เราใช้เหตุผล หรืออารมณ์ในการเลือกซื้อนาฬิกา?

เพื่อนๆ เคยถามตัวเองบ้างมั๊ยครับว่า “เราใช้อะไรในการตัดสินใจเลือกซื้อนาฬิกามาอยู่ในคอลเล็คชั่น?” “เราใช้กฎเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นมา หรือใช้อารมณ์ ความชอบล้วนๆ?”

ถ้าคำตอบคือ “ใช่” แปลว่า เพื่อนๆ มาถึงจุดที่คนชื่นชอบนาฬิกาทุกคน เคยเป็นครับ มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะต้องคอยต่อสู้กับเหตุผล และอารมณ์ของเรา และในโพสนี้ ผมจะขอพูดถึงว่า เราจะปรับแนวคิดของเราให้อยู่กับหลักการทั้ง 2 อย่างนี้ได้อย่างไร

กฎเกณฑ์ และเหตุผล

(Source: www.marketing91.com)

เนื่องจากสมองของมนุษย์มีทั้งด้านที่เน้นตรรกะ และเหตุผล กับอีกด้านที่เน้นเรื่องของสุนทรียะ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่สมองของเราจะพยายามสร้างกฎเกณฑ์ และเหตุผลต่างๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะตั้งกฎของตัวเองขึ้นมาว่า เราจะเลือกเก็บเฉพาะนาฬิกาที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์เท่านั้น (Iconic Watch) หรือ บางคนอาจจะมองหาเฉพาะนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่น complication เท่านั้น หรือในทางตรงกันข้าม บางคนอาจจะเลือกเก็บเฉพาะนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นบอกเวลาอย่างเดียว เป็นต้น

Courtesy of Christie’s

ซึ่งผมเอง ก็มองเห็นประโยชน์ของการใช้เหตุผลประกอบในการตัดสินใจ เป็นข้อๆ ตามนี้ครับ

เป็นการสร้างความคิดที่มีแบบแผน

ถ้าเราไม่ตีกรอบความคิด หรือความอยากได้ของเรา เราคงอยากจะได้นาฬิกาเรือนนั้น เรือนนี้เต็มไปหมด ซึ่งถ้าเรามีงบประมาณไม่จำกัด ก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ในความเป็นจริงมันคงไม่ใช่แบบนั้น และเมื่อเรามีการตีกรอบความคิด และกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน นั่นแปลว่าเราสามารถกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้นว่าเราต้องการเก็บนาฬิกา เรือนไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ จะใช้เวลานานแค่ไหน และใช้เงินประมาณเท่าไหร่ ถูกมั๊ยครับ

เป็นการสร้างคุณค่าในการสะสม

เป็นที่รู้กันดีว่า การสะสมสิ่งของต่างๆ นั้นต้องใช้เวลา และเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ก็จะมีเรื่องราวในเราได้นึกย้อนกลับไป ดังนั้นหากเราตั้งโจทย์ให้กับตัวเอง หรือเราตั้งเป้าหมายที่ท้าทายให้กับตัวเอง จนเมื่อเราทำสำเร็จ มันยิ่งเพิ่มคุณค่า และสร้างความหมายให้กับเรื่องราวนั้นๆ มากยิ่งขึ้นไปอีก

เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ และรสนิยมส่วนตัว

เหมือนที่ผมเคยเขียนไว้ในโพสก่อนหน้านี้ว่า การเลือกสะสมนาฬิกานั้นเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวมากๆ และที่สำคัญมากๆ เลยคือ ความชอบ และรสนิยมส่วนตัวนั้นมันแปลี่ยนไปตามกาลเวลา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรืองแปลกที่กฎเกณฑ์ที่เราตั้งไว้ จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต โดยที่ความเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะเกิดจาก การค้นคว้าหาข้อมูลมากขึ้น ประสบการณ์ในการซื้อ การใช้งานนาฬิกาที่มากขึ้น หรืออายุของเราเองที่มากขึ้น หรืออาจจะมาจากปัจจัยภายนอกเช่น การเปลี่ยนงาน เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การมีครอบครัว มีลูก ฯลฯ จึงสามารถพูดได้ว่า เมื่อกฎเกณฑ์ที่เราตั้งไว้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นแปลว่าเราได้พัฒนาองค์ความรู้ และรสนิยมส่วนตัวของเราด้วยเช่นกัน

อารมณ์และความชอบ

ก่อนหน้าที่ผมจะเขียนบทความนี้ ผมบอกกับตัวเองมาตลอดว่า เราจะต้องสกัดความชอบ และอารมณ์ อย่าให้มาอยู่เหนือเหตุผลในการตัดสินใจเลือกซื้อนาฬิกาซักเรือน จนผมได้เข้าไปดูยูทูปคลิป Watchbox’s collector conversation with Mark Cho ที่คุณ Mark Cho (IG: @markchodotcom หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน The Armoury และ Drake’s ซึ่งคุณ Mark ก็เป็นนักสะสมนาฬิกา ที่มีนาฬิกาในคอลเล็คชั่นที่น่าสนใจมากๆ ด้วย) ให้สัมภาษณ์กับ คุณ Tim Mosso (IG: @tim_mosso Director of Media & Watch Specialist ของเว็บไซต์นาฬิกาชื่อดัง Watchbox) ได้อย่างน่าสนใจมากๆ

คุณ Mark ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เราควรจะต้องมีโอกาสได้ครอบครองนาฬิกาเรือนนั้นๆ ในช่วงระยะเวลานึง มันจึงไม่ผิดที่เราจะตัดสินใจซื้อ ใช้เงินกับสิ่งที่เรายังไม่แน่ใจ เพื่อเราจะได้ใช้เวลา เพื่อให้เข้าใจมันมากขึ้น เพราะว่าการที่เราอ่าน หรือดูรีวิวต่างๆ หรือแม้กระทั่งการที่ได้ไปเห็น ไปจับเรือนจริงๆ ที่ช้อป ก็ยังไม่เพียงพอ เราควรที่จะต้องได้ใช้งานมันจริงๆ ใช้ชีวิตประจำวันของเรา แล้วถึงจะรู้ว่านาฬิกาเรือนนั้น มันเหมาะกับเราจริงๆ หรือไม่ และที่สำคัญ ความชอบนาฬิกามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ดังนั้นมันควรที่จะต้องเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเราได้จริงๆ”

ผมนั่งฟังบทสัมภาษณ์นี้อยู่หลายรอบ มันสะกิดใจผมมากจนผมถึงกับต้องจดลงในสมุดบันทึกส่วนตัว เพื่อทำความเข้าใจกับมันอยู่พักใหญ่ จนเมื่อผมเข้าใจมันจริงๆ แล้ว เหมือนมีคนมาเปิดประตูอีกบานให้เราเข้าไปอยู่ในแนวคิดใหม่ ที่เรานึกไม่ถึงมาก่อน

(Source: equestasia.au)

จากที่ผมพยายามไม่ให้อารมณ์ และความตื่นเต้นมาอยู่เหนือเหตุผล ผมเริ่มเปิดใจ และเปิดโอกาสให้ตัวเอง ไม่ให้ตัวเรายึดติดกับกฎเกณฑ์ หรือตัวเลข ใน spec sheet มากจนเกินไป เพื่อให้ได้ลองผิด ลองถูก และรู้จักกับนาฬิกาที่เหมาะสมกับเราจริงๆ

บทสรุป

ในท้ายที่สุดแล้ว เราควรจะ enjoy ไปกับงานอดิเรกนี้ อย่าไปเครียดกับมันจนเกินไป สำหรับผมแล้วการได้หาข้อมูล เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และได้รู้จักเพื่อนๆ ที่สนใจนาฬิกาเหมือนกัน นั่นสำคัญกว่าการเลือกซื้อนาฬิกาเสียอีก แล้วการสะสมนาฬิกานั้น จะมีความหมายกับเรามากยิ่งขึ้น และยังเป็นการพัฒนาความรู้ รสนิยม สไตล์ส่วนตัวของเราอีกด้วย

หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะ ข้อติชม เห็นด้วย หรือเห็นต่างตรงไหน สามารถเขียนมาในช่องคอมเม้นท์ด้านล่างได้เลยนะครับ ยินดีรับฟังความเห็นจากทุกๆ คน และฝากสนับสนุน ผลงานของผมโดยการกดติดตาม IG @mickyjicky และ @my.six.point.five.inch.wrist ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

แล้วเจอกันใหม่ในโพสถัดไปครับ!!