ทำไมผมถึงหันมาชอบใส่นาฬิกาขนาด 36-40มม? และอยากให้เพื่อนๆ หันมาสนใจเหมือนกัน

ถ้าเพื่อนๆ คนไหนที่ติดตาม Instagram ของผม @mickyjicky และ @my.six.point.five.inch.wrist จะเห็นว่าผมเริ่มหันมาสนใจ และกำลังอินกับนาฬิกาที่มีขนาดเล็กเป็นอย่างมาก ดังนั้นในโพสนี้ผมจะขอพูดถึงเรื่องของ “ขนาดของนาฬิกา” กันครับ ว่าทำไมผมถึงหันมาหลงไหล คลั่งไคล้นาฬิกาเรือนเล็ก และทำไมผมอยากให้เพื่อนหันมาสนใจด้วยเหมือนกัน

ผมมีเหตุผล 4 ข้อหลักๆ ให้พิจารณากัน ตามนี้ครับ

ความสบายในการใส่

เมื่อเราพูดถึงความสบายในการสวมใส่ สิ่งที่เรานึกถึงเป็นอย่างแรกก็คือ ขนาดข้อมือของแต่ละคน สำหรับผม ข้อมือผมมีขนาดเส้นรอบรูป 6.5นิ้ว (หรือ 16.5ซม) ซึ่งแต่ก่อนผมก็ชอบใส่นาฬิกาเรือนใหญ่ๆ เหมือนกับที่ทุกๆ คนใส่กัน ตามกระแสในยุคที่นาฬิกา Panerai ดังไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ไม่ว่าจะผู้ชาย หรือผู้หญิงก็ใส่ Panerai ขนาด 44มม กันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ผมขอบอกเลยครับว่าผมใส่แล้วมันไม่มีความสบายเลย ไม่สบายถึงขนาดที่ผมจะต้องถอดนาฬิกาออก เพื่อพักข้อมือผมวันละหลายๆ ครั้ง (ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ คนไหน เป็นเหมือนผมกันบ้างรึป่าว?) แต่ผมก็ทนใส่ต่อไป เพราะว่าตอนนั้นยังอยากตามกระแสแฟชั่น กลัวตกเทรนด์

Rolex Explorer Ref.14270 ขนาด 36มม ความยาว lug-to-lug ที่ 43.6มม หนา 11.5มม

จนเมื่อผมได้มีโอกาสใส่นาฬิกาที่มีขนาดเล็กลงมาที่ขนาด 36-37มม ผมถึงได้เข้าใจว่านาฬิกาที่มันใส่สบายนั้นเป็นอย่างไร ด้วยสาเหตุว่า เมื่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางนาฬิกาเล็กลง ความหนาของตัวเรือนบางลง และน้ำหนักก็เบาลงไปด้วย ดังนั้นผมสามารถใส่นาฬิกาไซส์นี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอดออกมาพักอีกต่อไป แถมในบางครั้ง ผมลืมไปเลยด้วยซ้ำว่าผมใส่นาฬิกาอยู่ (มันสบายได้ขนาดนั้นครับ)

พอเพื่อนๆ อ่านมาถึงจุดนี้ เพื่อนๆ อาจจะคิดว่าถ้าเพื่อนๆ มีขนาดข้อมือที่ใหญ่กว่าข้อมือผม หรือเอาเป็นว่ามีข้อมือตั้งแต่ 7 นิ้วเป็นต้นไป ก็ควรจะใส่แต่นาฬิกาขนาดใหญ่ เพราะคงไม่มีปัญหาเรื่องความไม่สบายในการใส่ใช้งาน คำตอบคือ “ใช่” แต่ก็ “ไม่จำเป็นเสมอไป” ครับ

Rolex Submariner Ref.1680 ขนาด 40มม ความยาว lug-to-lug ที่ 47.7มม หนา 15มม

ที่ตอบว่า “ใช่” ก็เพราะว่า คนที่มีข้อมือใหญ่นั้นสามารถใส่นาฬิกาที่มีตัวเรือนขนาดใหญ่ได้ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนๆ นั้นไม่สามารถ หรือไม่ควรจะใส่นาฬิกาเรือนเล็กนะครับ เพราะในความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า “ทุกคนสามารถใส่นาฬิกาเรือนเล็กแล้วดูดีได้ แต่น้อยคนที่จะใส่นาฬิกาเรือนใหญ่แล้วดูดีนะครับ” หรือจะพูดอีกอย่างได้ว่า “นาฬิกาเรือนเล็กไปอยู่บนข้อมือใหญ่ๆ แล้วยังโอเคนะครับ แต่นาฬิกาเรือนใหญ่มาอยู่บนข้อมือเล็กๆ แล้ว ผมว่าไม่โอเคอย่างแรง”

ความดูดี มีสไตล์

Rolex Daytona Ref.6265 “Big Red” ขนาด 37มม ความยาว lug-to-lug ที่ 44.8มม หนา 13มม

เรื่องนี้เป็นเรื่องของความงาม และรสนิยมล้วนๆ เลยนะครับ เพราะผมกำลังจะพูดถึง สัดส่วนที่งดงามของสิ่งที่อยู่บนข้อมือของเราครับ ซึ่งในความคิดของผมนั้น สัดส่วนที่ลงตัวคือขนาดของนาฬิกาจะต้องไม่ใหญ่เกินไปจนไม่เหลือเนื้อที่ของข้อมือผู้ใส่ให้เห็นครับ หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า นาฬิกาควรจะมีขนาดที่เหมาะสมพอที่เราสามารถมองเห็นข้อมือของผู้ส่วมใส่รอบตัวเรือนนาฬิกาได้ด้วย

ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่เราเลือกเสื้อผ้าที่เราจะใส่ให้ดูดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราคุ้นเคยกับเสื้อผ้าสไตล์ Classic Menswear กันอยู่แล้ว เป็นที่ทราบดีว่าเราควรจะต้องเลือกขนาดของเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับขนาดร่างกายของเรา หลักการง่ายๆ คือไม่ควรหลวมโคร่ง (คือนาฬิกาไม่ควรจะเล็กจนเหลือพื้นที่รอบตัวเยอะเกินไป) และก็ไม่ควรคับแน่นจนเกินไป (คือนาฬิกาไม่ควรจะใหญ่แน่นเต็มข้อ จนไม่เหลือพื้นที่รอบตัว)

และการที่นาฬิกามีขนาดที่เหมาะสมและเหลือพื้นที่บนข้อมือ จะทำให้สายของนาฬิกาไม่ว่าจะเป็นสายหนัง หรือสายสแตนเลสมาเกาะอยู่บนข้อมือ (ยิ่งถ้าเป็นสายนาฬิกาที่มีการ “Taper” หรือการเรียวลง จะยิ่งสวย) เวลามองจากมุมบนลงไป เราจะเห็นมุมมองของนาฬิกาที่สวยที่สุดที่มันควรจะเป็น มากกว่าการที่นาฬิกามีขนาดใหญ่เต็มข้อมือ จนไม่เหลือที่ให้สายมาเกาะทำให้สายนาฬิกาหักลงไปทื่อๆ เวลามองจากด้านบนเราจะมองเห็นแต่หน้าปัดนาฬิกาอย่างเดียว

ตามที่ผมได้เกริ่นไว้ตอนต้น (และนี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ) เมื่อผมเห็นคนที่ตัวใหญ่ หรือข้อมือใหญ่แต่ใส่นาฬิกาเรือนเล็ก ผมมีความชื่นชมในตัวบุคคลนั้นนะครับ ผมรู้สึกว่าคนๆ นั้นมีสไตล์เป็นของตัวเอง และรสนิยมที่น่าสนใจ

มีใครสังเกตมั๊ยครับว่า นาฬิกาด้านซ้ายมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าเรือนด้านขวา (Source: timeandtidewatches.com)

และเมื่อเราพูดถึงเรื่องขนาดของนาฬิกา โดยทั่วไป เพื่อนๆ มักจะคุ้นกับระยะ เส้นผ่าศูนย์กลาง (diameter) ความหนา (thickness) และขนาดหูสาย (lug width) แต่เพื่อนๆ จะไม่คุ้นกับระยะ “Lug-to-Lug” ซึ่งมันคือความยาวรวมของนาฬิกา วัดจากขอบด้านหนึ่ง จนถึงขอบอีกด้านหนึ่ง (วัดในแนว ทิศเหนือ-ใต้) ซึ่งจริงๆ แล้ว ระยะ Lug-to-Lug เป็นระยะความยาวที่บ่งบอกขนาดจริงๆ ของนาฬิกาเรือนนั้นๆ ไม่ใช่ระยะเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวเรือน (เหมือนที่คนส่วนใหญ่ใช้อ้างอิงกัน) เพราะว่ามันมีนาฬิกาบางแบรนด์ และบางประเภทที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตัวเรือนเล็กก็จริง แต่มีขา (lug) ที่ยาวมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้เวลาใส่จริงจะคลอบคลุมพื้นที่ข้อมือ ไม่ต่างจากนาฬิกาตัวเรือนใหญ่ เช่น แบรนด์ Nomos และนาฬิกาแนวทหาร พวก Field Watch หรือ Pilot Watch

ราคา

โดยปกติแล้ว นาฬิกาเรือนเล็กราคาจะถูกกว่านาฬิกาที่มีขนาดตัวเรือนใหญ่กว่านะครับ (ถ้าเทียบระหว่าง รุ่น และแบรนด์เดียวกัน) นี่เราพูดถึงทั้งราคาในช้อป หรือบนหน้าเว็บไซต์ (ลองเข้าไปดูในเว็บของ Rolex, IWC, Omega ก็ได้ครับ) และยังรวมไปถึงราคาในตลาดมือสองด้วย โดยเฉพาะพวกนาฬิกาที่ตัวเรือนที่ทำมาจากทอง และที่ประดับอัญมณีทั้งหลายนะครับ นาฬิกาเรือนเล็กลง ก็ใช้วัสดุน้อยลง ราคาก็เลยถูกกว่าครับ

ผมว่าเหตุผลนี้ไม่ต้องอธิบายกันเยอะ และนี่ก็น่าจะถูกใจใครหลายๆ คน ที่พอจะเอาไว้ใช้เป็นข้ออ้างในการซื้อนาฬิกากันได้นะครับ ^_^

ความคลาสสิค อยู่เหนือกาลเวลา

เป็นที่รู้กันดีนะครับว่า นาฬิกาวินเทจส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 33-36มม (ซึ่งสำหรับผมนี่คือขนาดที่ลงตัวที่สุด) ส่วนนาฬิกาที่มีขนาด 37-38มม จะถือว่าเป็นนาฬิกาที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบัน นาฬิกาที่มีขายกันในท้องตลาดจะมีขนาดที่ 40-42มม ถือเป็นไซส์มาตราฐานของคุณผู้ชาย โดยที่บางแบรนด์ก็จัดเอานาฬิกาขนาด 36มม ไปอยู่ในกลุ่มนาฬิกาสำหรับคุณผู้หญิง(ซะงั้น)

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ เมื่อจะซื้อนาฬิกาใหม่ซักเรือน ก็จะมองหานาฬิกาที่มีขนาด 40-42มม ซะเป็นส่วนใหญ่ จริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจนะครับ เพราะแทบทุกแบรนด์นั้นก็ขยันออกนาฬิการุ่นใหม่ๆ มาในไซส์นี้ แต่สำหรับผม ผมมองหานาฬิกาที่มีขนาด 36-37มม เป็นลำดับต้นๆ ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ผมมีความชื่นชอบนาฬิกาสไตล์วินเทจ และการแต่งตัวสไตล์ classic เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เหตุผลหลักของผมเลย คือ ผมเชื่อว่า นาฬิกาขนาด 36-37มม นั้นเป็นขนาดที่ลงตัว เป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลาที่สุดครับ ซึ่งไม่น่าแปลกใจครับที่ทาง Rolex ถึงยังคงนาฬิกาขนาด 36มม ไว้ใน Collection Date Just และ Oyster Perpetual และจากที่เคยเพิ่มขนาดของ Explorer เป็น 39มม ก็กลับมาลดขนาดคงเดิมที่ 36มม และล่าสุดก็เพิ่งจะเพิ่มขนาด 36มม ไปใน Collection Day Date

Patek Philippe Perpetual Calendar Ref.3940G ขนาด 36มม ความยาว lug-to-lug ที่ 43.3มม หนา 8.8มม (Source: bazamu.com)

ขอสารภาพอีกอย่างครับว่า การที่ผมชอบนาฬิกาขนาดเล็กแบบนี้ มันทำให้ผมรู้สึกท้าทายที่จะต้องใช้ความพยายาม และเวลาในการตามหานาฬิกาที่ถูกใจเรามากกว่านาฬิกาที่เห็นอยู่ทั่วๆ ไป

บทสรุป

ก็หวังว่าเหตุผลที่ผมได้อธิบายให้เพื่อนๆ ทุกคนได้อ่านกันจบไปแล้วนั้น จะพอดึงความสนใจให้ทุกคนหันมามอง และคิดที่จะเลือกใส่นาฬิกาเรือนเล็กลงกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ อย่างไรก็ดี มันยังมีปัจจัย ปลีกย่อยที่ผมไม่ได้กล่าวถึงอย่าง รูปร่างของตัวเรือน เช่น ตัวเรือนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวเรือนแบบถังเบียร์ (Tonneau) ฯลฯ ความหนาของตัวเรือน สีของหน้าปัด สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของเราเวลามองว่า นาฬิกาเรือนดังกล่าวมีขนาดใหญ่ หรือเล็กบนข้อมือเรา นะครับ (ผมอาจจะเขียนแยกเป็นอีกโพสต่างหากในอนาคตนะครับ)

และที่ผมเขียนอธิบายมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าผมจะบังคับให้ตัวเองสนใจแต่นาฬิกาขนาด 36-37มม อย่างเดียวนะครับ สำหรับตัวผมแล้ว จากประสบการณ์ที่เคยใส่ใช้งานจริง และได้ลองใส่นาฬิกาที่ผ่านๆ มา ผมสามารถใส่นาฬิกาขนาดใหญ่ที่สุดได้ที่ขนาด 40มม โดยผมคิดว่า นาฬิกาขนาด 38-40มม นั้นเหมาะที่จะเป็นนาฬิกาที่ผมจะใส่สำหรับโอกาสวันหยุด ไปเที่ยว หรือในวันที่ผมทำกิจกรรม outdoor ต่างๆ

และสุดท้ายนี้ ผมว่าตอนนี้เราเริ่มที่จะเห็นกระแสที่นาฬิกาเรือนเล็กจะกลับมาอยู่ในความนิยมอีกครั้ง ซึ่งผมก็หวังว่านาฬิกาแบรนด์ต่างๆ จะเริ่มทยอยออกนาฬิการุ่นยอดนิยม หรือรุ่นใหม่ๆ มาในขนาดที่เล็กลง และในอนาคตอันใกล้ ก็ควรที่จะยกเลิกการแบ่งหมวดหมู่นาฬิกาในแคตตาล็อค ว่าเป็น คุณผู้ชาย คุณผู้หญิง กันอีกต่อไปได้แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เราได้เห็นการออกแบบนาฬิกาในรูปแบบใหม่ๆ (ที่ไม่แบ่งเพศ) ในอนาคต

หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะว่าอยากจะให้ผมเขียนเกี่ยวกับหัวข้ออะไร มีข้อติชม เห็นด้วย หรือเห็นต่างตรงไหน สามารถเขียนมาในช่องคอมเม้นท์ด้านล่างได้เลยนะครับ ผมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกๆ คน และหากมีข้อมูลอะไรผิดพลาด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ และฝากสนับสนุนผลงานของผมโดยการกดติดตาม IG: @mickyjicky และ @my.six.point.five.inch.wrist กันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

แล้วเจอกันใหม่ ในโพสถัดไปครับ!!

สะสมนาฬิกายังไงให้สนุก? ลองหามุมที่คุณชอบ

จากโพสที่แล้ว ที่ผมได้เล่าเกี่ยวกับคอลเล็คชั่นนาฬิกาปัจจุบันของผมให้ทุกคนทราบกัน และผมได้ทิ้งโน๊ตไว้ว่า จะเล่าถึงนาฬิกาที่ผมวางแผนจะมีไว้ในคอลเล็คชั่นในอนาคต ในโพสถัดไป

แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องนั้น ผมอยากจะแชร์ “วิธีคิด” ที่ผมคิดว่า มีความสำคัญมาก ที่ทำให้การสะสมนาฬิกานั้น สนุกขึ้น และบางทีมันอาจจะทำให้มีคุณค่าทางจิตใจมากขึ้นด้วย เพื่อนๆ ลองพิจารณาดูครับ

สิ่งนั้นคือ การหา “มุมที่คุณชอบ” หรือ “มุมที่ทำให้คุณหลงใหล” ในนาฬิกา

ผมเชื่อว่า พวกเราในช่วงแรกๆ ที่เริ่มสนใจนาฬิกา เกือบจะทุกคนจะมุ่งความสนใจไปที่ นาฬิกายอดฮิตทั้งหลาย เช่น Rolex Submariner, GMT-Master II, Daytona, Omega Speedmaster, Seamaster, Patek Philippe Nautilus, Audemars Piguet Royal Oak

Source: www.gearpatrol.com

ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะนาฬิกาที่พูดถึงนั้นสวยทุกเรือน และอยู่เต็มหน้าฟีด บนโลกโซเชียล และก็เพราะนาฬิกาเหล่านี้นั่นแหละ ที่ทำให้พวกเราสนใจนาฬิกามาตั้งแต่แรก

Patek Philippe’s Nautilus 5711/1A-010 & Audemars Piguet Royal Oak Jumbo. Source: USA.watch pro.com

ตัวผมก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนๆ ทุกคน ที่สนใจและอยากจะได้นาฬิกาเหล่านั้นมาเก็บไว้ในคอลเล็คชั่น แต่ก็ต้องเจอปัญหาว่า ทำไมราคามันถึงได้สูงเหลือเกิน แถมราคาก็ยังเพิ่มขึ้นทุกปีอีก และที่สำคัญสุดเลยคือ มันไม่สามารถซื้อกับทางตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (Authorized Dealer; AD) ได้ ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีของในสต็อค แล้วจะต้องลงชื่อไว้ใน Interesting List (ขอย้ำว่า ไม่ใช่ Waiting List) ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะถึงคิวเราเมื่อไหร่ แต่ถ้าเป็นเรือนที่คนต้องการมากๆ ยังจะต้องไปซื้อเรือนอื่นๆ (ที่เราไม่ได้อยากได้) มาก่อน เพื่อสะสมยอดซื้อจนถึงระดับที่จะมีสิทธิ์ ลงชื่อใน Waiting List

ด้วยสถานการณ์แบบที่พูดถึงข้างต้น มันเคยถึงกับทำให้ผมเลิกสนใจนาฬิกาไปพักใหญ่ เพราะผมรู้สึกว่า มันไม่ใช่งานอดิเรกที่ทำให้เรามีความสุข หรือสนุกไปกับมันอีกต่อไป

จนมาถึงวันนึงที่ผมหันมาเปิดใจ และกลับมาเริ่มสนใจนาฬิกาอีกครั้ง แต่คราวนี้ (อาจจะเนื่องด้วยอายุที่มากขึ้น และบวกกับการที่เราหันมาสนใจการแต่งตัวแบบ classic menswear ด้วย) ผมได้ศึกษาลงลึกมากขึ้น เกี่ยวกับนาฬิกาประเภทต่างๆ และจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น YouTube ทั้งใน และต่างประเทศ และ Website ที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาของต่างประเทศ (เอาไว้ผมจะเขียนบทความแยกต่างหาก เกี่ยวกับแหล่งข้อมูลนาฬิกาที่ผมเข้าไปติดตามเป็นประจำ)

มันทำให้ผมค้นพบว่ามันยังมีนาฬิกาที่สวย น่าสนใจ มีความซับซ้อน น่าศึกษา อีกเยอะมาก นอกเหนือจากนาฬิกาตามกระแสนิยมหลัก เช่น

Vintage Watches. Source: www.HODINKEE.com
  • นาฬิกาวินเทจ คือ นาฬิกาที่ถูกผลิตในช่วงก่อนปี คศ 1980 (พศ 2523) หรือบางแหล่งข้อมูลใช้หลักเกณฑ์ว่าเป็นนาฬิกาที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปี หรือ 50 ปี เป็นต้นไป
  • Independent Watch Markers คือ นาฬิกาที่ถูกออกแบบ ทั้งรูปแบบ หน้าตา กลไก และถูกผลิตในปริมาณที่น้อย ภายใต้แบรนด์ของตนเอง ไม่ขึ้นตรงกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ เช่น Roger W. Smith, Laurent Ferrier, MB&F, Naoya Hida เป็นต้น
  • นาฬิกา Microbrand คือ บริษัทนาฬิกาที่ออกแบบรูปแบบ หน้าตา ในรูปแบบของตนเอง แต่ใช้กลไกสำเร็จพร้อมใช้ เช่น Miyota, Seiko, Sellita, เป็นต้น
Japanese Indepent Watch Maker; Naoya Hida. Source: monochrome-watches.com
นาฬิกา Micro Brand. Source: Horologisto.com

นาฬิกาเหล่านี้ เหมือนเปิดโลกใหม่ให้กับผม ทำให้ผมตื่นเต้น อยากที่จะเรียนรู้และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และที่สำคัญคือ ทำให้ผมสนุกกว่าแต่ก่อนเยอะเลย

แล้วจะหา “มุมที่คุณชอบ” หรือ “มุมที่ทำให้คุณหลงใหล” ในนาฬิกา ได้อย่างไร?

มันไม่มีสูตรสำเร็จที่ทุกคนจะสามารถเอาไปใช้ได้นะครับ เพราะการจะหาสิ่งที่คุณชอบ มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ และก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยเฉพาะตัวบุคคลด้วย เช่น อายุ การทำงาน ไลฟ์สไตล์ และพื้นฐานความเป็นมาของแต่ละคน จะเห็นได้ว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ก็จะมีส่วนทำให้ความชอบของแต่ละคน เปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วยอีกต่างหาก

ดังนั้นผมจึงขอยกตัวอย่างกรณีของผม เผื่อว่าทุกคนจะสามารถลองเอาไปประยุกต์ใช้กับตัวเองดูนะครับ ผมขอเขียนแยกเป็นหัวข้อตามนี้ครับ

  • อย่างที่ทุกคนพอจะทราบกัน ผมมีความชื่นชอบการแต่งตัวสไตล์ “Classic Menswear” ผมชอบใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว ผูกเนกไท ใส่แจ็กเก็ต ใส่สูท กับรองเท้าหนัง มากกว่าจะใส่ เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ
  • ผมชอบใส่นาฬิกาขนาดกลางๆ คือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 36-40มม (ซึ่งหลายๆ คนอาจจะมองค่อนไปทางขนาดเล็กด้วยซ้ำ) ผมมีความรู้สึกว่านาฬิกาที่มีขนาดตั้งแต่ 42มม เป็นต้นไปนั้นใหญ่เกินไปสำหรับข้อมือขนาดเส้นรอบวง 6.5 นิ้ว (หรือ 16.5 ซม) ของผม ที่บอกว่าใหญ่เกินไป คือ เวลามองจะรู้สึกว่ามันเต็มข้อมือจนไม่เหลือพื้นที่รอบๆ เรือนนาฬิกา และรู้สึกไม่สบายข้อมือ (บางครั้งถึงกับรู้สึกเจ็บข้อมือด้วย) เมื่อใส่ไปนานๆ ทั้งวัน
  • ผมจบการศึกษามาทางด้านสถาปัตยกรรม มีความชื่นชอบทางด้านงานออกแบบ และศิลปะ
  • ที่สำคัญสุดเลย คือ ผมชอบที่จะใส่นาฬิกาที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักทั่วไป (ไม่อยากใส่นาฬิกาไปซ้ำกับใครเยอะ)

จากเหตุผลที่ผมเล่ามาข้างต้น คงไม่ต้องแปลกใจที่ผมมี Rolex Submariner ตัววินเทจ และ Reverso Classic อยู่ในคอลเล็คชั่นของผม เท่านี้ก็น่าจะพอเดากันได้ว่า มุมที่ผมชอบก็คือ “นาฬิกาวินเทจ” แต่เนื่องจากผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ และความรู้เพียงพอที่จะสามารถแยกแยะนาฬิกาวินเทจว่าเรือนไหนของจริง ของปลอมได้ และผมก็ไม่อยากจะห่วงเรื่องการบำรุงรักษานาฬิกาวินเทจ ดังนั้น นาฬิกาที่ผมชอบก็คือที่เรียกกันว่าเป็น “Vintage (Re-issue) Watch” ซึ่งก็คือการที่แบรนด์นาฬิกาต่างๆ หยิบเอานาฬิการุ่นคลาสสิกที่มีประวัติมายาวนาน เรื่องราวที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมสูงในสมัยก่อน เอามันปัดฝุ่น แล้วใส่เทคโนโลยี กลไก ปัจจุบัน และวัสดุที่ทันสมัยเข้าไป เพื่อนำมาจำหน่ายในโอกาสพิเศษต่างๆ หรือในบางแบรนด์ เช่น Longines, Brietling, Grand Seiko ถ้าเพื่อนๆ เข้าไปดูในเว็บไซด์ ก็จะมีนาฬิกาประเภทนี้อยู่ใน “Heritage Collection”

พอจะเริ่มมองหา “มุมที่คุณชอบ” กันได้รึยังครับ?

เพื่อให้มองเห็นภาพมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ครับ

  • เพื่อนๆ อาจจะมองไปที่ “ประเภทของนาฬิกา” ต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัววินเทจ หรือจะเป็นรุ่นปัจจุบัน ก็ได้ เช่น

นาฬิกาดำน้ำ (Diver Watch)

Diver Watches. Source: www.HODINKEE.com

นาฬิกาจับเวลา (Chronograph Watch)

นาฬิกาจับเวลา source: www.HODINKEE.com

นาฬิกาสำหรับใช้ทางการทหาร (Military/ Field Watch)

Source: www.HODINKEE.com
  • หรือเราอาจจะเจาะลึกลงไปใน “ประเภทย่อย” ของนาฬิกาประเภทนั้นๆ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง นาฬิกาจับเวลา ล่ะกันนะครับ เพราะนาฬิกาจับเวลานั้น ยังมีการแยกออกเป็นประเภทย่อยๆ อีก เช่น

นาฬิกาจับเวลาสำหรับนักบิน (Pilot Chronograph) – คือนาฬิกาที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับกองทัพอากาศ

Pilot Chronograph Brequet Type XX. Source:www.HODINKEE.com

นาฬิกาจับเวลาสำหรับนักแข่งรถ (Racing/Driver Chronograph) – คือนาฬิกาจับเวลาในการแข่งในกีฬามอเตอร์สปอร์ต

Heuer Carrera Chronograph 160th Anniversary. Source: www.HODINKEE.com

นาฬิกาจับเวลาสำหรับ Dress Watch – คือนาฬิกาที่ใช้กลไกชั้นสูง (high horology) ซึ่งจะประกอบไปด้วยฟังก์ชั่น ปฏิทินถาวร (Perpetual Calendar) ข้างขึ้นข้างแรม (Moon Phase) การจับเวลา (Chronograph) หรืออาจจะมีฟังก์ชั่นมากกว่านี้

High Complication Patek Philippe. Source: www.HODINKEE.com
  • อีกมุมนึง คือการมองเจาะจงไปที่ช่วงเวลาที่มีผลกับการออกแบบนาฬิกา เช่น ในยุคปีทศวรรษที่ 60 และ 70 นั้น กระแสของศิลปะ และวัฒนธรรม มีผลทำให้งานออกแบบนาฬิกามีความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่น

นาฬิกา Patek Philippe ในช่วงยุคทศวรรษที่ 70

A Patek Beta 21. Source: www.HODINKEE.com

นาฬิกา Seiko Chronograph ในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70

Seiko 6138 vintage chronograph. Source: 60clicks.com

บทสรุป

ผมหวังว่าจากที่ผมเขียนมาทั้งหมดให้ทุกคนข้างต้น จะพอให้ไอเดียกับเพื่อนๆ ในการหา “มุมที่คุณชอบ” หรือ “มุมที่ทำให้คุณหลงใหล” ในการสะสมนาฬิกากันได้ไม่มากก็น้อยนะครับ สุดท้ายนี้ผมของฝากข้อคิดที่ผมก็จำไม่ได้ว่าผมไปฟัง หรือไปอ่านมาจากไหน แต่มันติดอยู่ในหัวผมมาตลอด ก็คือ “เราไม่สามารถครอบครองนาฬิกาทุกเรือนที่ผมชอบได้ แต่เราควรจะรักนาฬิกาทุกเรือนที่อยู่กับเรา”

หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะ ข้อติชม เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยตรงไหน สามารถเขียนมาในช่องคอมเม้นท์ด้านล่างได้เลยนะครับ ยินดีรับฟังความเห็นจากทุกๆ คน และฝากสนับสนุน ผลงานของผมโดยการกดติดตาม IG @my.six.point.five.inch.wrist และ @mickyjicky ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

แล้วเจอกันใหม่ ในโพสถัดไปครับ!!

คอลเล็คชั่นนาฬิกาของผมในปี พ.ศ.2565

ใกล้จะสิ้นปี 2565 แล้วนะครับ ผมเลยอยากจะใช้โอกาสนี้อัพเดทนาฬิกาที่อยู่ในคอลเล็คชั่นของผมในปีนี้และ นาฬิกาที่ผมวางแผนว่าจะซื้อไว้ในครอบครองในอนาคต พร้อมทั้งเหตุผลว่าทำไมผมถึงอยากได้นาฬิกาเหล่านั้นนะครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบที่จะฟังเรื่องราว คอลเล็คชั่นนาฬิกาของบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะในช่องยูทูปต่างประเทศ จะมีทำ State of The Collection หรือ SOTC ไว้เยอะมาก เพราะคอลเล็คชั่นนาฬิกาของแต่ละคนนั้น ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (ปล่อยของที่มีอยู่ แล้วซื้อเรือนใหม่เข้ามา) ซึ่งทุกๆ คนก็จะมีเรื่องราว เหตุผต่างๆ ในการตัดสินใจ และนั่นคือสิ่งที่ผมสนใจ และรู้สึกสนุกไปกับเรื่องราวเหล่านั้น แถมยังมีเกร็ดความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับนาฬิกา ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน

ผมหวังว่า สิ่งที่ผมเขียนในโพสนี้ จะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยให้กับเพื่อนๆ ที่ชอบและสนใจในนาฬิกา ในแบบเดียวกันครับ

การแบ่งหมวดหมู่ในคอลเล็คชั่นนาฬิกาของผม (เพื่อความเข้าใจในการอ่าน)

เริ่มต้นจาก “คอลเล็คชั่นปัจจุบัน” คือ ผมจะลิสต์นาฬิกาทุกเรือน ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งระบุ ปีที่ผมได้ซื้อ หรือได้รับมา โดยผมจะแสดงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับนาฬิกาเรือนนั้น และขอเล่าเรื่องราวเบื้องหลังให้เพื่อนๆ ได้รู้ด้วย

หลังจากนั้นจะเป็น “นาฬิกาที่อยากได้” ก็จะเป็น นาฬิกาที่ผมวางแผนว่าอยากจะซื้อในอนาคต พร้อมทั้งความคิดเบื้องหลังในแต่เรือน โดยปกติแล้ว ผมจะตั้งกฎให้กับตัวเอง หรือจะเรียกว่าเป็น “เงื่อนไขส่วนตัว” ก็ได้ เพื่อใช้ในการตีกรอบความคิด ในการสร้างคอลเล็คชั่นนาฬิกาของผมนะครับ

เงื่อนไขส่วนตัวของผม มีอะไรบ้าง? (เผื่อว่าเพื่อนๆ จะเอาไปลองปรับใช้กันได้ ไม่ว่ากันครับ)

ข้อที่ 1 ผมจะมีนาฬิกาได้แค่ยี่ห้อละ 1 เรือนเท่านั้น

ข้อที่ 2 ผมจะมีนาฬิกาได้แค่ 1 เรือน ในแต่ละประเภทเท่านั้น เช่น นาฬิกาดำน้ำ 1 เรือน, นาฬิกาจับเวลา 1 เรือน, นาฬิกา GMT, ฯลฯ

ข้อที่ 3 ผมสามารถมีนาฬิกาประเภทต่างๆ ได้ แต่จะซื้อได้ ต้องมีวาระพิเศษในชีวิต หรือจะต้องประสบความสำเร็จในงานที่ทำเท่านั้น

ข้อที่ 4 ในการซื้อนาฬิกาแต่ละเรือนจะต้องไม่ทำให้มีปัญหาทางด้านการเงิน

ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลยครับ!!

คอลเล็คชั่นปัจจุบัน

นาฬิกา Rolex Submariner Reference 1680

  • ประเภท: นาฬิกาวินเทจ / มรดกตกทอดในครอบครัว
  • ปีที่เข้ามาอยู่ในคอลเล็คชั่น: พ.ศ.2537 / ค.ศ.1994
  • รายละเอียดนาฬิกา:
    • ปีที่ผลิต: ค.ศ.1967-1980 (โดยประมาณ)
    • วัสดุตัวเรือน และคริสตัล: ตัวเรือนเป็นสแตนเลสสตีล หน้าปัดดำ / อะคริลิคพร้อมเลนส์ขยายหน้าต่างวันที่ และสาย Oyster สแตนเลสสตีล
    • ขอบตัวเรือน: วัสดุสแตนเลสสตีลสีดำ หมุนได้ 2 ทิศทาง พร้อมสเกลจับเวลา 60 นาที
    • ขนาดตัวเรือน: เส้นผ่าศูนย์กลาง 40มม / ความกว้างหูสาย 20มม
    • กลไกนาฬิกา: คาลิเบอร์ 1575 (บนพื้นฐานคาลิเบอร์ 1570) กลไกขึ้นลานอัตโนมัติ
    • การกันน้ำ: ความลึก 200 เมตร / 660 ฟุต
    • เกร็ดความรู้: Ref.1680 เป็นรุ่นแรกที่ทาง Rolex เริ่มใส่ฟังก์ชั่นหน้าต่างแสดงวันที่ให้กับ คอลเล็คชั่น Submariner แสดงให้เห็นถึงความเป็นที่นิยมที่เพิ่มขึ้นของ Submariner เพราะหน้าต่างแสดงวันที่ มิได้เป็นฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับนาฬิกาดำน้ำ แต่เป็นความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั่วไปมากขึ้น
  • เรื่องราว:

ผมได้รับนาฬิกาเรือนนี้เป็นของขวัญ หรือจะเรียกว่าเป็นรางวัลก็ได้ จากคุณลุงที่ผมเคารพรักมาก ในโอกาสที่ผมสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว (ในยุคของผมการสอบเอ็นทรานซ์ เป็นเหมือนจุดหลักสำคัญในชีวิตของนักเรียนทุกคน) เรื่องมันเกิดมาจากว่า ผมได้เห็นคุณลุงของผมใส่นาฬิกา Rolex Submariner เป็นครั้งแรก แล้วผมก็รู้สึกว่าทำไมนาฬิกาเรือนนี้มันหล่อ มันเท่ห์มากมายขนาดนี้ จนผมถามข้อมูลต่างๆ มากมาย จนคุณลุงของผมคงรับรู้ถึงความชอบในนาฬิกาเรือนนี้ของผมได้ จนท่านได้เอ่ยปากบอกกับผมว่า “ถ้าสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะสถาปัตย์ฯ ได้ ลุงจะซื้อนาฬิกาเรือนนี้ให้”

แล้วผมก็ได้ครอบครอง Submarier มาจนได้ ตอนที่ผมได้รับมาจากคุณลุง นาฬิกาเป็นมือสองมาตัวเปล่า(ไม่มีกล่องใบ) เท่าที่ผมจำได้ ราคาตอนนั้นยังอยู่ในหลักหมื่น ผมใส่นาฬิกาเรือนนี้แทบจะทุกวัน ตลอดช่วงเวลาที่ผมอยู่มหาวิทยาลัย จนจบปริญญาตรี จนไปถึงช่วงเวลาที่ผมไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อไปถึงช่วงชีวิตการทำงานช่วงแรกๆ ที่ผมได้มีโอกาสไปต่างประเทศเยอะมาก เช่นเยอรมัน อิตาลี จีน แคนาดา ฯลฯ เจ้า Submariner เรือนนี้ไปกับผมทุกที่ (จะเห็นได้จากสภาพตัวเรือน ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้งานแบบจริงจัง ไม่ได้ถนุถนอมแต่อย่างใด) 

ทุกวันนี้ ถึงผมจะไม่ได้ใส่นาฬิกาเรือนนี้บ่อยเหมือนเมื่อก่อน (ใส่เฉพาะช่วง เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดสุดสัปดาห์) แต่ไม่น่าเชื่อว่านาฬิกายังคงเดินปกติ เที่ยงตรงในระดับที่มันควรจะเป็น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ผมยอมรับเลยครับว่า Rolex ผลิตนาฬิกาที่ อด ถึก ทน แต่ก็ยังคงความสวย และความมีเอกลักษณ์ที่เป็น Iconic Watch อย่างที่ทุกคนรู้กัน

นาฬิกา Swatch Quartz Chronograph

  • ประเภท: นาฬิกาใส่เล่น / มรดกตกทอดในครอบครัว
  • ปีที่เข้ามาอยู่ในคอลเล็คชั่น: จำไม่ได้จริงๆ ครับ
  • รายละเอียดนาฬิกา:
    • วัสดุตัวเรือนและสาย: สแตนเลสสตีล 
    • ขนาดตัวเรือน: ความกว้างตัวเรือน 43มม / หนา 12.67มม / ความยาวตัวเรือน 49มม
    • กลไกนาฬิกาควอทซ์
    • การกันน้ำ: 30ม
    • เกร็ดความรู้: เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่า เพื่อนๆ สามารถนำนาฬิกา Swatch มาเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ที่ช้อป โดยไม่เสร็จค่าใช้จ่ายใดๆ ตลอดอายุการใช้งาน
  • เรื่องราว:

เท่าที่จำได้ผมเห็นนาฬิกาเรือนนี้ครั้งแรกบนข้อมือคุณพ่อของผมนานมากๆ แล้ว ผมยังจำความรู้สึกได้ว่ามันดูเท่ห์อย่างบอกไม่ถูก ณ ตอนนั้นยังเป็นสายสแตนเลสสตีล แต่ผมก็จำไม่ได้นะครับว่า ผมได้บอกคุณพ่อรึป่าวว่าผมอยากได้นาฬิกาเรือนนี้ แต่ผมกลับมาเจอนาฬิกาเรือนนี้อีกครั้งในลิ้นชักโต๊ะทำงานของผม เมื่อตอนที่ผมกลับไปเก็บของในห้องของผมที่บ้านของคุณพ่อ คุณแม่ เมื่อครั้งที่ท่านขายบ้านหลังนั้น เพื่อย้ายไปอยู่บ้านใหม่กัน

แต่ในครั้งที่ผมเห็นเจ้า Swatch เรือนนี้อีกครั้ง หลังจากที่เริ่มมีความรู้เกี่ยวกับนาฬิกามากขึ้น มันทำให้ผมนึกถึงเจ้า “Speedy” Omega Speedmaster Professional (ณ ตอนนั้นเรายังไม่มี MoonSwatch ให้รู้จักกันนะครับ) ดังนั้นผมเลยตัดสินใจเก็บนาฬิกาเรือนนี้ไว้ เพราะผมนึกอยู่ในใจว่า ผมน่าจะทำอะไรสนุกๆ กับเจ้า Swatch เรือนนี้ได้แน่ๆ แล้วเมื่อต้นปี พ.ศ.2565 นี้เอง ผมได้ไปที่ช้อปของ Swatch เพื่อนำนาฬิกาไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ แล้วก็โชคดีครับที่นาฬิกามันยังเดินได้ปกติ แต่ระบบจับเวลามันทำงานไม่สมบูรณ์ (และอีกไม่นาน เข็มจับเวลาก็ไม่ทำงานแบบถาวร) เมื่อนาฬิกายังเดินได้ ผมเลยตัดสินใจเปลี่ยนสายจากเดิมที่เป็นสแตนเลสสตีล เป็นสายหนังสีน้ำตาล จับคู่กับหน้าปัดสีดำของนาฬิกาได้อย่างดี (น่าเสียดายที่ นาฬิกา Swatch ไม่สามารถใช้สายทั่วไปในท้องตลาดได้นะครับ)

นานๆ ที ผมถึงจะใส่เจ้า Swatch เรือนนี้ แต่ทุกครั้งที่ผมได้ใส่ ผมจะนึกถึงภาพความทรงจำตอนที่ผมยังเป็นเด็ก และนึกถึงเรื่องราวระหว่างคุณพ่อกับผม มันเป็นความรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกนะครับ

นาฬิกา Apple Watch Series 7 ขนาด 45มม วัสดุ Stainless Steel สีเงิน

  • ประเภท: สมาร์ทว็อช
  • ปีที่เข้ามาอยู่ในคอลเล็คชั่น: ต้นปี พ.ศ.2565 / ค.ศ.2022
  • รายละเอียดนาฬิกา:
    • วัสดุตัวเรือนและสาย: ตัวเรือนสแตนเลสสตีลขัดเงา และสายสแตนเลสสตีลถัก (Milanese Style Bracelet) 
    • โปรเซสเซอร์: S7 64-bit dual core / W3 Apple wireless chip / U1 Chip (Ultra Widebrand)
    • ขนาดตัวเรือน: สูง 45มม กว้าง 38มม หนา 10.7มม
    • ฟังก์ชั่น:
      • GPS + Cellular with Wi-Fi & Bluetooth connectivity
      • Always on display
      • Blood Oxygen Sensor
      • Electrical Heart Sensor
      • Fall Detection
      • Sleeping Sensor
      • และอื่นๆ อีกมากมาย 
    • การกันน้ำ: 50ม (ใส่ว่ายน้ำ และเล่นกีฬาทางน้ำได้)
    • เกร็ดความรู้: เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่า Apple Watch รุ่นแรก มีชื่อเรียกว่า Apple Watch Series 0 (Zero)
  • เรื่องราว:

คนในครอบครัว และเพื่อนๆ ของผมรู้กันเป็นอย่างดีว่า ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ Apple ผมใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ชิ้นแรกคือ iMac G3 (รุ่นที่เป็นจอทีวี แล้วก็มีสีให้เลือก 5 สี น้ำเงิน, แดง, เขียว, เหลือง, และสีม่วง) และแน่นอนครับผมใส่ Apple Watch ตั้งแต่รุ่นแรกที่ออกมา แล้วก็อัพเดทรุ่นใหม่มาเรื่อยๆ

สำหรับการอัพเดทครั้งนี้นั้น ผมเลือกรุ่นที่เป็นตัวเรือนสแตนเลสสตีล ถึงแม้ว่าจะราคาสูงกว่ารุ่นที่เป็นตัวเรือนอลูมิเนียมพอสมควร แต่ฟังก์ชั่นแทบจะไม่ต่างกัน เหตุผลหลักๆ ก็คือความบ้านาฬิกาของผม ที่ผมอยากจะใส่ สมาร์ทว็อชที่มีหน้าตาเหมือนกับนาฬิกากลไกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ไม่อยากให้เหมือนใส่ Gadget)

โดยปกติแล้ว ผมจะใส่เจ้า Apple Watch เวลาที่ผมออกกำลังกาย เช่น วิ่ง ตีเทนนิส ว่ายน้ำ และผมก็จะใส่เข้านอนแทบจะทุกคืน ต้องยอมรับครับว่า ผมเป็นคนที่ชอบติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ และก็ยังมีความอยากลองฟีเจอร์ใหม่ๆ ตลอดเวลา (โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของ Apple) ดังนั้นเจ้า Apple Watch ต้องอยู่ในคอลเล็คชั่นของผมอย่างไม่ต้องสงสัย

นาฬิกา Seiko 5 Reference SNXS73K1 (หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า Seiko ‘Date Just’)

  • ประเภท: นาฬิกาใส่สบายๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์
  • ปีที่เข้ามาอยู่ในคอลเล็คชั่น: พ.ศ.2564 / ค.ศ.2021
  • รายละเอียดนาฬิกา:
    • วัสดุตัวเรือนและคริสตัล: สแตนเลสสตีล ส่วนกระจกเป็น Hardlex Crystal
    • หน้าปัด: เป็นหน้าปัดสีเงิน Sun Burst และหลักชั่วโมงเป็นแบบ Applied Markers พร้อมพรายน้ำ
    • ขนาดตัวเรือน: เส้นผ่าศูนย์กลาง 37มม / หนา 12มม / หูสายกว้าง 19มม
    • กลไกนาฬิกาSeiko Caliber 7S26 ระบบขึ้นลานอัตโนมัติ สำรองพลังงานได้
    • การกันน้ำ: 30ม
    • เกร็ดความรู้: เลข ‘5’ ที่อยู่ในชื่อ Seiko 5 มีที่มาจากคุณสมบัติ 5 อย่างที่นาฬิกา Seiko 5 ทุกเรือนจะต้องมีคือ
      • กลไกขึ้นลานอัตโนมัติ
      • หน้าต่างแสดงวัน และวันที่
      • การกันน้ำ
      • เม็คมะยมแบบซ่อนที่ 4 นาฬิกา
      • ตัวเรือนออกแบบให้มีความทนทาน
  • เรื่องราว:

ผมจำได้แม่นเลยว่า ผมเห็นนาฬิกาเรือนนี้ครั้งแรกจากช่อง ‘Pond Review’ และช่อง ‘Wimol Tapae’ ที่คุณปอน์ด และคุณบอส ใจตรงกันมารีวิวนาฬิกาเรือนนี้ในเวลาใกล้ๆ กัน หลังจากที่ผมดูรีวิว ก็คือผมโดนป้ายยาเต็มๆ ไม่เพียงแต่ช่องยูทูปคนไทยนะครับ เหล่า YouTuber ต่างประเทศ พร้อมใจกันสดุดี เจ้า Seiko เรือนนี้ว่าเป็น หนึ่งในนาฬิกาที่คุ้มค่าที่สุดในงบไม่เกิน 100 ดอลล่าห์ (ประมาณ 3 กว่าบาท)

ดังนั้นเมื่อปีที่แล้ว ผมจึงตัดสินใจสั่งนาฬิกาเรือนนี้ โดยที่ยังไม่เคยเห็นเรือนจริงด้วยซ้ำ (เป็นช่วงโควิดกำลังระบาดอย่างหนัก) ผมบอกเพื่อนๆ ทุกคนได้เต็มปากเลยครับว่า นาฬิกาเรือนนี้คุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์ ที่จ่ายไป จริงๆ ผมได้รับคำชม จากคนรอบๆ ตัวเยอะมาก และคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเจ้า Seiko เรือนนี้ราคาสูงกว่าสามพันบาทไปไกลมาก

ผมชอบในความใส่สบายของนาฬิกาเรือนนี้ แถมยังสามารถอ่านเวลาได้อย่างรวดเร็ว (พรายน้ำก็ชัดแจ๋วเต็มตา แต่ก็จะไม่สว่าง และนานเท่ากับพวกนาฬิกาดำน้ำ) ผมไม่ค่อยซีเรียสกับความเที่ยงตรงของเจ้า Seiko เรือนนี้ (-20/+40 วินาที ต่อวัน) เนื่องด้วยราคาของมัน และส่วนใหญ่ผมจะใส่เจ้า Seiko เฉพาะช่วงสุดสัปดาห์ หรือไม่ก็ไปเที่ยวต่างจังหวัดใกล้ๆ

ข้อด้อยอีกหนึ่งจุดของนาฬิกาเรือนนี้นอกจากความเที่ยงตรง ก็คือสายเหล็กพับที่มากับตัวเรือน คุณภาพก็ตามราคา และเวลาใส่ ขยับข้อมือจะมีเสียงดังตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งแรกที่ผมทำเมื่อได้รับนาฬิกาเรือนนี้มาคือ ผมจับเปลี่ยนเป็นสายหนังสไตล์วินเทจ (น่าเสียดายที่หูสายกว้าง 19มม) ซึ่งผมว่ามันดีกว่าสายเดิมมากๆ เจ้า Seiko 5 เรือนนี้น่าจะยังอยู่กับผมไปอีกนาน

นาฬิกา Jaeger-LeCoultre Reverso Classic Medium Thin Reference JLQ2548440

  • ประเภท: นาฬิกาเดส สำหรับใส่ประจำวัน
  • ปีที่เข้ามาอยู่ในคอลเล็คชั่น: พ.ศ.2565 / ค.ศ.2022 
  • รายละเอียดนาฬิกา:
    • วัสดุตัวเรือนและคริสตัล: สแตนเลสสตีล หร้อมกระจกแซฟไฟร์คริสตัล
    • หน้าปัด: Silvered grey, Vertical satin-brushed and guilloche, Black transferred numerals
    • ขนาดตัวเรือน: สูง 40.1มม กว้าง 24.4มม
    • กลไกนาฬิกากลไกไขลาน Caliber 822A/2, Components; 108 ชิ้น ความถี่ 21600 Jewel 19 ชิ้น สำรองพลังงาน 42 ชั่วโมง
    • ฟังก์ชั่น: มีเฉพาะเข็มชั่วโมง และเข็มนาที
    • การกันน้ำ: 30ม
    • เกร็ดความรู้: นาฬิกา Reverso เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักกีฬาโปโลใส่เวลาแข่งขัน เพราะนาฬิกาสามารถพลิกเอาด้านกระจกเข้าไปด้านใน เพื่อป้องกันกระจกนาฬิกาแตกเสียหาย นับเป็นนาฬิกา Sport Watch ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากศิลปะยุค Art Deco Style ที่มีหรูหรา สง่างาม เป็นเอกลักษณ์ตลอดกาล
  • เรื่องราว:

นาฬิกาเรือนนี้นับเป็นเรือนล่าสุดที่เข้ามาอยู่ในคอลเล็คชั่นของผม เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2565 นี่เอง นับเป็นนาฬิกาเรือนพิเศษสำหรับผม ตามที่ผมได้เขียนโพสแยกต่างหากเกี่ยวกับเจ้า Reverso เรือนนี้โดยเฉพาะ เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่ My Dream (Comes True) Watch

ผมได้ทำการสั่งนาฬิกา Reverso กับทาง Jaeger-Lecoultre บูทีค ที่ สยามพารากอน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2565 ถึงแม้ว่าผมจะต้องรอเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน (1 เดือนสำหรับการสั่งผลิตจากสวิสเซอร์แลนด์ และอีก 1 เดือนสำหรับงานแกะสลักด้านหลังตัวเรือน) แต่มันเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ที่ผมได้รับจากพนักงานขายทุกท่าน

ในตอนที่สั่งนาฬิกานั้น ผมได้เลือกสายนาฬิกาเป็นหนังจรเข้สีน้ำตาลเข้ม แต่เนื่องจากผมตั้งใจที่จะใส่เจ้า Reverso นี้ไปทำงานเป็นประจำ ผมจึงตัดสินใจสั่งสายนาฬิกาเพิ่มอีก 1 เส้น เป็นหนังนกกระจอกเทศสีน้ำตาลอ่อน เพราะจะสามารถแมทช์เข้ากับการแต่งตัวแบบ Classic Menswear ของผมได้มากกว่า (หนังจรเข้ มีความเงา แถมยังสีเข้ม เหมาะกับงานทางการ งานกลางคืนมากกว่า) ผมสามารถเปลี่ยนสายสลับไปมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ เพราะนาฬิกาและสายมาพร้อมกับระบบ Quick Release

การเดินทาง และเรื่องราวระหว่างผมกับเจ้า Reverso เรือนนี้เพิ่งจะเริ่มต้น และผมตั้งใจว่านาฬิกาเรือนนี้จะอยู่กับผมตลอดไปจนกว่า จะถึงเวลาที่ผมจะส่งต่อให้กับลูกสาวของผม

นาฬิกาที่ผมตั้งใจให้มาอยู่ในคอลเล็คชั่นในอนาคต

เพื่อความกระชับของโพสนี้ ผมขอพูดถึงนาฬิกาที่ผมวางแผนไว้ว่าจะซื้อเข้ามาอยู่ในคอลเล็คชั่นในอนาคต ในโพสถัดไป นะครับ

บทสรุป

ไม่ทราบว่าเพื่อนๆ คิดยังไงเกี่ยวกับนาฬิกาในคอลเล็คชั่นของผม ถ้าหากเพื่อนๆ มีความเห็นเพิ่มเติม หรืออยากจะแนะนำ ติชม จะเห็นด้วย หรือเห็นต่าง ผมยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นนะครับ สามารถเขียนลงมาในช่อง comment ข้างล่างได้เลยครับ และฝากสนับสนุนผลงานของผมโดยการ กดติดตาม IG @my.six.point.five.inch.wrist และ @mickyjicky ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

แล้วเจอกันใหม่ ในโพสถัดไปครับ !!