Rolex Story: A Full-Circle of In-house Watch Maker

กลับมาอีกครั้งนะครับ หลังจากหายไปนานจากการเขียน blog ทั้งเรื่องของการแต่งตัว และนาฬิกา

เนื่องจากผมมีโอกาสได้อ่านบทความที่เกี่ยวกับนาฬิกาแบรนด์นึง ที่ผมคิดว่าทุกคนคงรู้จักกันดี นั่นก็คือนาฬิกา Rolex นั่นเองนะครับ และจากการที่ผมได้มีโอกาส เป็นเจ้าของและใช้งานนาฬิกาแบรนด์นี้ มาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537) ทำให้ผมมีความชื่นชม และไว้วางใจกับนาฬิกา Rolex เป็นอย่างมาก

ผมคิดว่าเพื่อนๆ ทุกคนคงพอจะทราบข้อมูลพื้นฐานของนาฬิกาแบรนด์นี้กันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมา รุ่น Iconic ต่างๆ และในเรื่องของคุณภาพของวัสดุ ความเที่ยงตรงและความทนทานของกลไกขับเคลื่อน

แต่ผมคิดว่าเพื่อนๆ หลายๆคนคงยังไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว นาฬิกา Rolex มีขั้นตอนการผลิตอย่างไร ที่ว่าทำทุกอย่าง in-house นั้น รายละเอียดจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร แต่ที่รู้กันแน่ๆ คือว่าผลิตในประเทศสวิสฯ ^_^

ดังนั้นวันนี้ผมอยากขอถือโอกาสนี้ แบ่งปันข้อมูลที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ จากที่ผมได้อ่านบทความ “Geography of Excellence” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร “The Rolex Magazine issue#11”

ขอเริ่มกันเลยนะครับ

อย่างที่ผมเกริ่นนำไปว่า เพื่อนๆ ทุกคน คงจะทราบกันดีว่า Rolex is Swiss Made และคงพอจะเดากันได้ว่า น่าจะอยู่ในเมือง Geneva ซึ่งก็ถูกต้องครับ เพราะสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Geneva แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหนึ่งเมืองที่เกี่ยวข้องคือเมือง Bienne (ออกเสียงว่า “เบียน”)

จากที่ทุกคนได้ทราบข้อมูลมาว่า Rolex ออกแบบ พัฒนา ผลิตชิ้นส่วน ประกอบ ทดสอบ และตรวจสอบคุณภาพ ทุกขั้นตอนภายใต้โรงงานของ Rolex เองทั้งหมด โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 โลเคชั่นหลักๆ ที่น่าสนใจมากคือ นาฬิกาทุกเรือนจะเดินทางเป็นวัฏจักรดังนี้ครับ

  • Geneva – Les Acacias I: Creators of Design 
  • Plan-les-Ouates (ออกเสียงว่า พล็อง-เล-ว็อท): Masters of Materials
  • Bienne (ออกเสียงว่า เบียน): Artisans of Movement
  • Chêne-Bourg (ออกเสียงว่า เชน-เบิร์ก): Alchemists of Beauty
  • Geneva – Les Acacias II: Custodians of the Seal

โดยทาง Rolex จะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละโลเคชั่น ดังนี้

Photo credit: www.rolexmagazine.com
  • CREATORS OF DESIGN: จุดกำเนิด การวิจัยและพัฒนาต้นแบบ และงานออกแบบ อยู่ที่ Geneva – Les Acacias I
    • ณ ที่ตั้งอาคาร Rolex ใน Acacias แห่งนี้ เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ อันเป็นที่ทำงานของ ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายบริหาร และรวมไปถึง เวิร์คช็อปสำหรับการประกอบชิ้นส่วนนาฬิกาในขั้นตอนสุดท้าย รวมทั้งศูนย์ทดสอบ Superlative Control Testing อีกด้วย (ผมจะขอกลับมาอธิบายละเอียดอีกครั้ง ในหัวข้อ Geneva – Les Acacias II)
    • สำหรับขั้นตอนแรกของการผลิตนาฬิกา ทีมงานที่สำคัญที่อยู่ ณ สำนักงานแห่งนี้คือ ทีมงานวิจัย และพัฒนา และ ทีมงานออกแบบ
    • โดยที่ไอเดียสำหรับการผลิตนาฬิการุ่นใหม่ๆ ของ Rolex นั้น อาจจะใช้เวลาในการพัฒนานานหลายปี โดยเป็นการทดลอง และทดสอบไอเดียกัน ระหว่างทีมงานนักวิจัยฯ​ และทีมออกแบบ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของศาสตร์ต่างๆ ที่เราคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็น นักเคมี นักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ นักวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง นักสถิติ รวมไปถึง นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ จนสามารถพัฒนาการไปถึงการผลิตนาฬิกาต้นแบบ
    • หลังจากได้นาฬิกาต้นแบบออกมา ผ่านการปรับแบบในแง่ของการออกแบบ จนถูกพัฒนาไปจนถึงการผลิตนาฬิกาต้นแบบที่ทำงานได้จริง (functioning prototypes) ซึ่งหลังจากนี้จะถูกนำไปทดสอบการทำงาน และความอึด ถึก ทน ตามคุณสมบัติเฉพาะตัวของนาฬิกา Rolex
    • โดยการทดสอบดังกล่าว จะมีการจำลองลักษณะการเคลื่อนไหว และการใช้งานของมนุษย์จริงๆ เช่น การทดสอบการทนการกระแทก (shock resistance) ผ่านการจำลองเหตุการณ์มากกว่า 20 รูปแบบ การจำลองการใช้งานผ่านกาลเวลา (aging and mechanical wear and tear) โดยที่ทาง Rolex ได้มีการใช้หุ่นยนต์ และเครื่องทดสอบที่ออกแบบ เพื่อใช้กับทาง Rolex โดยเฉพาะ ซึ่งหุ่นยนต์และเครื่องทดสอบดังกล่าว สามารถจำลองการใช้งานนาฬิกา 1 ปี ด้วยการใช้เวลาเพียง 2 วันครึ่งเท่านั้น
    • เราจะเห็นได้ว่า Rolex ให้ความสำคัญกับการทำงานของกลไกให้ทนทานในระยะเวลาอันยาวนาน ผ่านการทดสอบอันหนักหน่วง ด้วยเหตุนี้ นาฬิการุ่นใหม่ของ Rolex ทุกเรือนจึงใช้เวลาพัฒนาที่ยาวนานเพื่อให้แน่ใจว่า นาฬิกาต้นแบบนั้นพร้อมที่จะส่งต่อไปยังขั้นตอนการผลิตจริงต่อไป
Photo Credit: www.rolexmagazine.com
  • MASTERS OF MATERIALS: ปรมาจารย์ด้านวัสดุ และคลังนิรภัยเก็บโลหะมีค่าใต้ดินที่ Plan – les – Ouates (ออกเสียงว่า พล็อง-เล-ว็อท)
    • เนื่องจากที่ทำการแห่งนี้ต้องมีการจัดเก็บวัสดุ และโลหะมีค่าประเภท ทองคำ จำนวนมากเพื่อใช้ในการผลิตตัวเรือน และสายนาฬิกา ผมเลยอยากขอพูดถึงตัวอาคาร และระบบจัดการในแง่ของตัวเลขที่น่าสนใจในอาคารแห่งนี้ก่อนนะครับ
  • อาคารมีชั้นเหนือดินจำนวน 5 ชั้น และยังมีชั้นใต้ดินทั้งหมดอีก 5 ชั้น
  • รวบรวมวัสดุประเภทต่างๆ ประมาณ 500,000 ชนิด โดยมีช่องจัดเก็บมากกว่า 60,000 ช่อง
  • โดยช่องจัดเก็บดังกล่าวจะถูกแบ่งแยกไว้เป็น 2 ส่วน อย่างละเท่าๆ กัน เพื่อหากเกิดเหตุฉุกเฉินในส่วนหนึ่ง ก็ยังมีอีกส่วนสามารถทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่สะดุด (redundancy)
  • พื้นที่โดยรวมของชั้นใต้ดินทั้งหมดเทียบได้กับ สระว่ายน้ำมาตราฐานโอลิมปิกจำนวน 10 สระ
  • และระบบจัดเก็บ และระบบปฏิบัติการทั้งหมดผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และแขนกล 100% ไม่ใช่มนุษย์ในการจัดการ
  • น่าทึ่งมั๊ยละครับ กับความอลังการในชั้นใต้ดิน กลับขึ้นมาเหนือดิน อันเป็นสถานที่ทำงานของเหล่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัสดุ ก็อลังการไม่แพ้กัน เพราะทาง Rolex เลือกที่จะติดตั้ง เตาหลอม และโรงหล่อ โลหะทองดำ ทั้ง 3 ประเภท Yellow Gold, White Gold, และ Everose Gold เป็นของตนเอง เพื่อที่จะสามารถควบคุมงานผลิตตัวเรือน และสายนาฬิกา จนกระทั่งชิ้นส่วน บางตัวที่ใช้ในกลไกขับเคลื่อน ตั้งแต่ต้นจนจบ 100%
  • นอกเหนือจากโรงหล่อทองคำแล้ว ก็ยังมีเครื่องจักรที่ออกแบบโดยเฉพาะเพื่อให้ทาง Rolex ใช้ในการ ตัด ปั๊ม โลหะ Oystersteel อันเป็นโลหะผสม (Alloy) สูตรเฉพาะที่ทาง Rolex คิดค้นขึ้นโดยมีคุณสมบัติในการทนต่อกัดกร่อนมากเป็นพิเศษ ออกมาเป็น ตัวเรือน และชิ้นส่วนของสายนาฬิกาต่อไป
Photo Credit: www.rolexmagazine.com
  • หลังจากที่ได้ชิ้นส่วนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ขั้นตอนสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ งานขัดแต่ง โดยงานขัดเงาแบบ mirror effect จะต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ชำนาญการ ที่ผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝนสายตามาอย่างยาวนาน เพื่อให้ได้ความเงางาม และแสงสะท้อนที่สมบูรณ์ที่สุด รวมไปถึงการตรวจสอบส่วนเวาส่วนโค้งทั้งหมดของตัวเรือน เพื่อเป็นการการันตีว่าผู้ใช้งาน สามารถใส่นาฬิกาได้อย่างสบายข้อมือมากที่สุด โดยทั้งหมดนี้ ยังรวมไปถึงการขัดแต่งชิ้นส่วนในกลไกขับเคลื่อนนาฬิกาอีกด้วย
Photo Credit: www.rolexmagazine.com
  • ARTISANS OF MOVEMENT: ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะกลไกแห่งเวลา ณ Bienne (อ่านเสียงว่า เบียน)
  • Rolex ตั้งใจให้ที่ทำการแห่งนี้มีไว้สำหรับงานในส่วนของการประกอบกลไกขับเคลื่อนนาฬิกาทั้งหมด โดยห้องทำงานได้ถูกแบบให้รับแสงธรรมชาติให้มากที่สุด และอากาศในห้องจะผ่านเครื่องกรองอากาศ และจะถูกมอนิเตอร์ตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีฝุ่น หรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ หลุดเข้าไปได้
  • งานประกอบชิ้นส่วนทั้งหมด ยังเป็นการประกอบด้วยมือของช่าง โดยมีการตรวจสอบทั้งทางสายตา และด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิค ว่ามีชิ้นส่วนใดที่ประกอบขึ้นมาไม่ได้ตามมาตราฐานที่ควรจะเป็น
  • เป็นที่ทราบกันดีว่า Rolex ผลิตชิ้นส่วนทั้งหมด “In-house” แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่า Rolex ได้พัฒนาและคิดค้นชิ้นส่วนที่มีความสำคัญกับกลไกนาฬิกา เพื่อใช้กับนาฬิกา Rolex โดยเฉพาะ เช่น
    • Perpetual Rotor
    • Chronergy Escapement
    • Paraflex shock absorber
    • Parachrom & Syloxi hairsprings (มีเพียงผู้ผลิตนาฬิกาไม่กี่แบรนด์ในโลกเท่านั้น ที่มีศักยภาพในการผลิต hairspring ได้เอง)
    • Microstella Nuts
    • แม้แต่ น้ำมันหล่อลื่นสำหรับกลไก Rolex ยังคิดค้นสูตรเพื่อใช้สำหรับ Rolex โดยเฉพาะ
  • หลังจากที่ประกอบกลไกเสร็จสมบูรณ์ กลไกดังกล่าวจะถูกส่งไปที่ศูนย์ COSC (Contrôle Officiel Suisse des Chronomètres) หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษคือ Swiss Official Chronometer Testing Institute ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมด 15 วัน โดยกลไกที่ผ่านการทดสอบนี้ จะมีความคลาดเคลื่อนที่ -4/+6 วินาที ต่อวัน
  • เครื่องกลไกทั้งหมดที่ผ่าน COSC จะถูกนำกลับมาที่สำนักงานที่ Biene อีกครั้งเพื่อทำการตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนจะถูกส่งต่อไปที่ สำนักงานที่ Acacias อีกครั้งเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนประกอบเครื่องเข้ากับตัวเรือน
Photo Credit: www.rolexmagazine.com
  • ALCHEMISTS OF BEAUTY: นักปรุงแต่งความงาม แห่งเมือง Chêne-Bourg (ออกเสียงว่า เชน-เบิร์ก)
    • ตอนนี้ทุกคนทราบกันแล้วนะครับว่า ตัวเรือนถูกสร้างขึ้นที่ Plan-les-Ouates หัวใจการขับเคลื่อนเริ่มต้นที่ Bienne และอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญของนาฬิกา ซึ่งก็คือส่วนของหน้าปัด ซึ่งถือว่าเป็นหน้าตาของนาฬิกาเกิดขึ้นที่นี้ เมือง Chêne-Bourg
    • ที่ทำการแห่งนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นอาคารที่เล็กที่สุด ในทั้งหมด 4 แห่ง แต่ก็ยังใช้เทคโนโลยีแขนกล และสายพาน สำหรับจัดส่งชิ้นส่วนต่างๆ (รวมไปถึงอัญมณีต่างๆ) ให้กับช่างประกอบชิ้นส่วนบนหน้าปัดนาฬิกา
  • ส่วนประกอบต่างๆ ที่เราเห็นกันคุ้นตาบนหน้าปัดนาฬิกา Rolex เกิดขึ้นใน workshop แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์คำว่า “Rolex”, “Oyster Perpetual Officially Certified” หรือ “Superlative Chronometer” และการวางชิ้นส่วน Logo มงกุฎห้าแฉก และหลักชั่วโมง ยังเป็นการวางด้วยมือช่างทั้งหมด
  • ในส่วนของการเล่นลวดลาย การขัดแต่งบนหน้าปัด จะใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อความเที่ยงตรงระดับไมครอน
  • ทุกคนคงพอจะทราบกันดีว่า Rolex มีการใช้วัสดุหลากหลายมากๆ ที่ใช้ในการตกแต่งหน้าปัด เช่น ทองคำ หรือจำพวกวัสดุจากธรรมชาติ เช่น หินสวยงาม หินอุกกาบาต และเปลือกหอยมุก และยังรวมไปถึงอัญมณีต่างๆ เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต ฯลฯ
  • มาถึงจุดนี้ จะไม่พูดถึงการคัดสรรอัญมณีเพื่อนำมาประดับบนนาฬิกา Rolex คงไม่ได้ ทุกคนทราบหรือไม่ว่า บนนาฬิกา Daytona ที่เป็นหน้าปัด Rainbow นั้นใช้ไพลิน 36 ชิ้น ในเฉดสีที่เลือกเฉพาะเจาะจงโดยนักอัญมณีศาสตร์ จากทาง Rolex หลังจากนั้นถึงถูกนำมาจัดเรียงด้วยมือชิ้นต่อชิ้น ด้วยเครื่องมือในการเจียระไน ปรับแต่งเพื่อให้ได้การไล่เฉดสีรุ้งที่สวยงามตามที่เห็น
  • อัญมณีที่ถูกคัดเลือก และส่งมาที่นี่ จะต้องถูกตรวจสอบแหล่งที่มา และความบริสุทธิ์ ความแท้ของวัสดุ และผ่านตามมาตราฐานที่เข้มงวดของทาง Rolex เท่านั้น จึงสามารถส่งต่อขั้นตอนการติดตั้งบนหน้าปัด
  • ที่นี่ยังใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการ สร้างสรรค์สีสันใหม่บนหน้าปัดนาฬิกา โดยมีเหล่า นักเคมี และนักฟิสิกส์ ใช้เทคนิคในการผสมสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบเงา หรือสีจากโลหะต่างๆ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย Rolex ถือว่าเป็นผู้นำในการผลิตสร้างสรรค์หน้าปัดนาฬิกาแบบใหม่ๆ ในโลก
  • ในส่วนของชั้นใต้ดิน เป็นที่ทำงานในส่วนของการผลิตเซรามิค ที่ทุกคนคุ้นตากันบนขอบ Bezel สองสีของนาฬิกา GMT-Master II ตามที่ทุกคนทราบกันว่า เซรามิค มีคุณสมบัติที่สำคัญคือป้องกันรอยขีดข่วน และมีระดับความแข็งที่สูงมาก และ Rolex เป็นผู้คิดค้นการนำเซรามิค 2 สีมารวมกันอยู่ในวัสดุชิ้นเดียวกันได้ เป็นแบรนด์แรกของโลก
Photo Credit: www.rolexmagazine.com
  • CUSTODIANS OF THE SEAL: ปัจฉิมบท กับผู้แลการลงผนึก Green Tag ณ Les Acacias II
    • ขั้นตอนในการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ จะอยู่ใน ห้องทำงานที่จัดการ และควบคุมสภาพอากาศให้บริสุทธิ์ตลอดเวลา และยังควบคุมความชื้นให้อยู่ในช่วง 45-50% ตลอดเวลา ทุกคนในห้องจะต้องสวมชุดป้องกันไฟฟ้าสถิต และใส่ถุงคลุมรองเท้า เพื่อป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้เข้ามาในห้องทำงาน และที่แย่ที่สุดคือเข้าไปอยู่ในตัวเรือนนาฬิกา
  • การประกอบตัวเรือน การติดตั้งเข็มลงบนหน้าปัด และการใส่กลไกเข้าไปในตัวเรือน ทั้งหมดนี้ยังคงทำด้วยมือช่างนาฬิกาทั้งหมด และในแต่ละขั้นตอนยังคงต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งการทำงาน และความสวยงาม ผ่านตามมาตราฐานของทาง Rolex
  • หลังจากประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว นาฬิกาทุกเรือนจะถูกส่งต่อไปยัง ศูนย์ทดสอบ Superlative Control ซึ่งตั้งอยู่ชั้นใต้ดินของอาคารที่ Acacias แห่งนี้ โดยการทดสอบจะคลอบคลุมถึง ความเที่ยงตรงของกลไก การกันน้ำ ระบบการขึ้นลานอัตโนมัติ และการสะสมพลังงาน
  • การทดสอบทั้งหมดจะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าขั้นตอนทั้งหมดนั้น ถูกดำเนินการอย่างถูกต้องทั้งหมด
Photo Credit: www.rolexmagazine.com
  • โดยการทดสอบความเที่ยงตรงของกลไก ระบบการขึ้นลานฯ และการสะสมพลังงาน จะทำผ่านเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อจำลองสภาวะการใส่ใช้งานของมนุษย์จริงๆ ตามสภาพต่าง โดยจะแบ่งเป็น position ที่ต่างกัน 7 รูปแบบ และแต่ละรูปแบบจะมีการทดสอบเคลื่อนไหวแบบหมุน เหวี่ยงอีกด้วย การทดสอบเช่นนี้ เพื่อให้แน่ใจว่านาฬิกายังสามารถเดินได้เที่ยงตรงไม่ว่าจะถูกสวมใส่ด้วยผู้ใช้งานทุกรูปแบบใดก็ตาม และเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้เกิดขึ้นได้คือ -2/+2 วินาทีต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ที่สูงกว่า COSC อย่างมาก
  • ในส่วนของการทดสอบการกันน้ำ ทุกคนคงพอจะทราบกันดีว่า Rolex เป็นผู้นำในการคิดค้น ตัวเรือนกันน้ำ Oyster case และระบบขันเกลียวเม็ดมะยม Twinlock / Triplock และ Ringlock System โดยการทดสอบจะทำให้ ถังควบคุมแรงดันน้ำ (Hyperbaric Tank) โดยจะแบ่งการทดสอบ โดยเพิ่มแรงดันน้ำให้สูงกว่าค่าระดับที่ระบุในสเปค ตามนี้ครับ
    • นาฬิกากันน้ำระดับ 100 เมตร จะทดสอบที่แรงดันสูงกว่าที่ระบุ 10%
    • นาฬิกากันน้ำระดับ 300 เมตร 1,220 เมตร 3,900 เมตร และ 11,000 เมตร จะทดสอบที่แรงดันสูงกว่าที่ระบุ 25%
Photo Credit: www.rolexmagazine.com
  • นาฬิกา Rolex ทุกเรือนจะต้องผ่านการทดสอบ Superlative Control เพื่อให้ได้รับตรา Superlative Chronometer บนหน้าปัดนาฬิกาทุกเรือน และหลังจากที่ตัวเรือนได้ถูกประกอบเข้ากับสายนาฬิกา จึงจะได้รับ ตราผนึกสีเขียว (Green Seal) และการรับประกันทั่วโลกเป็นเวลา 5 ปี
Photo Credit: www.rolexmagazine.com
  • จากจุดเริ่มต้นที่ Les Acacias ชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตัวเรือน กลไก หน้าปัด เข็ม กระจกแซฟไฟร์ และสายนาฬิกา จากที่ต่างๆ จะกลับมารวมกันที่นี้อีกครั้งเพื่อประกอบเข้ารวมเป็นตัวนาฬิกาที่สมบูรณ์ อันถึงเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทาง ก่อนที่จะถูกนำส่งไปยังตัวแทนจำหน่ายต่อไป

เป็นอันจบเรื่องราวเกี่ยวกับวงจรการผลิตนาฬิกา Rolex ไปแล้วนะครับ หวังว่าสิ่งที่ผมเล่าให้เพื่อนๆ ทุกคนในบทความนี้ จะทำให้ทุกคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับนาฬิกายี่ห้อ Rolex กันลึกซึ้งขึ้นไปอีกไม่มากก็น้อยนะครับ

สุดท้ายนี้ หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะ ข้อติชม เห็นด้วย หรือเห็นต่าง ตรงไหน อย่างไร สามารถเขียนมาในช่องคอมเม้นท์ ทางด้านล่างได้เลยนะครับ ผมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกๆ คน และหากมีข้อมูลอะไรผิดพลาด ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยครับ และฝากสนับสนุนผลงานของผม มาให้กำลังใจกันโดยการกดติดตาม IG: @mickyjickyและ @my.six.point.five.inch.wrist กันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *