จากตอนที่แล้ว เราหยุดกันไว้ที่จุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เราได้รู้จัก “Trench Watch” และ “WWW – Wrist Watch Waterproof” และ “Dirty Dozen” แต่การพัฒนานาฬิกาเพื่อการทหารยังดำเนินต่อไป เนื่องจากยังมีความต้องการอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางการทหาร เพื่อเข้าสู่ยุค “สงครามเย็น (Cold War)”
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Post War Period) จนถึงช่วงยุคสงครามเย็น (Cold War) (ค.ศ. 1947 – 1991 หรือ พ.ศ. 2490 – 2534)
กินระยะเวลายาวนานถึง 44 ปี ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 9
และในช่วงเวลานี้ นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดของนาฬิการหัส W10 ยิ่งไปกว่านั้น นาฬิกาที่หลายๆ คนอาจจะพอคุ้นตาอย่าง JLC for RAF (Royal Air Force) และ IWC Mark XI ก็ถือกำเนิดในยุคนี้เช่นเดียวกัน โดยในช่วงทศวรรษ 1960s ทาง MoD (Ministry of Defence) เริ่มต้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อผลิตนาฬิกาที่ออกแบบโดยกองทัพอังกฤษ และผลิตในประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้ผลิตนาฬิกาจากอังกฤษคนนั้น ก็คือ Smiths และนาฬิกาดังกล่าว จึงถูกเรียกว่า Smiths W10 นั่นเอง
จุดกำเนิด Smiths W10
Smiths คือ กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม สัญชาติอังกฤษที่ผลิตอุปกรณ์จับเวลาให้กับกองทัพอังกฤษ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1947 ทาง Smiths ยังคงดำเนินการผลิตนาฬิกาต่อมา จนมาเริ่มผลิตนาฬิการุ่น High grade สำหรับพลเรือน ซึ่งผลิตโดยคนอังกฤษ และภายในประเทศอังกฤษทั้งหมดทุกขั้นตอน
และอีก 21 ปีต่อมา ในปี 1968 ทางกองทัพอังกฤษ มีนโยบายที่จะออกนาฬิกา W10 ซึ่งเป็นมาตราฐานใหม่ในการออกแบบนาฬิกาทางการทหารของทางฝั่งกองทัพอังกฤษ โดยมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- “White on Black” คือมีพื้นหน้าปัดเป็นสีดำ ส่วนหลักชั่วโมง นาที และเข็มนาฬิกาเป็นสีขาว เพื่อการอ่านค่าเวลาที่ชัดเจนที่สุด
- หลักชั่วโมงเป็นตัวเลขอารบิก และมีสัญลักษณ์ รูปสามเหลี่ยม ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา เพื่อใช้เป็นหลักในการอ่านเวลา ว่าปลายสามเหลี่ยมจะต้องชี้ขึ้นเสมอ เพื่อป้องกันการสับสน ระหว่างตำแหน่ง 12 นาฬิกา และ 6 นาฬิกา
- หลักนาที เป็นรูปแบบ “รางรถไฟ” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Railroad Minute Track”
- ใช้สารเรืองแสง Tritium บนตัวเข็มชั่วโมง เข็มนาที และหลักชั่วโมง พร้อมด้วยสัญลักษณ์ ตัวอักษร T อยู่ในวงกลม อันเนื่องจาก Tritium เป็นสารกัมมันตรังสี
- มีการระบุตราสัญลักษณ์ “หัวลูกศร” (Broad Arrow) เพื่อบ่งบอกว่าเป็นสมบัติของทางกองทัพฯ
- ต้องสามารถดึงเม็ดมะยม เพื่อหยุดเข็มวินาทีได้ (Hacking Second Hand) สำหรับการ sync เวลาให้ตรงกัน สำหรับภารกิจต่างๆ
ดังนั้นการที่ Smiths ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษแท้ๆ มาผลิตนาฬิกา W10 จึงถือว่าเป็นนาฬิกา W10 รุ่นเดียวที่ผลิตจากบริษัทสัญชาติอังกฤษ และผลิตในประเทศอังกฤษทั้งหมด โดยรุ่นอื่นๆ ของ W10 ที่ตามมาภายหลังนั้น ผลิตออกประเทศอังกฤษทั้งหมด
นอกจากนั้น นาฬิกา Smiths W10 ยังถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อักษรย่อ “NSN” (Nato Stock Number) ซึ่งเป็นรหัสทางการทหาร ที่ใช้อย่างแพร่หลายกับนาฬิกาในกองทัพอังกฤษ ในช่วงยุค Post War ยกตัวอย่างเช่น W10/6645-99 ซึ่งอ่านค่าได้ว่า
- 6645 เป็นรหัส NSN สำหรับอุปกรณ์จับเวลา
- 99 เป็นรหัส NSN เพื่อแสดงถึงประเทศอังกฤษ
จุดกำเนิด Hamilton W10
จนเข้าสู่ช่วงปีทศวรรษที่ 1970s กองทัพสหราชอาณาจักร มีปัญหาทางการเงิน เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทั้งประเทศ สายการผลิตนาฬิกาของ Smiths ต้องหยุดทำการ และได้มีบริษัทใหม่ซึ่งคือ Hamilton มาเริ่มการผลิตนาฬิกา W10 แทนเวอร์ชั่นของ Smiths โดยได้ผลิตออกมาในช่วงปี 1973-1976
โดยที่เวอร์ชั่นของ Hamilton นั้นขับเคลื่อนด้วยกลไก Calibre 649 ซึ่งก็อยู่บนพื้นฐานของเครื่อง ETA 2750 (เครื่องสวิสฯ) พร้อมด้วยกลไกหยุดเข็มวินาที แต่มาในตัวเรือนทรง Tonneau Shaped Case ซึ่งเป็นที่นิยมในยุค 70s โดยตัวเรือนถูกออกแบบให้เป็นชิ้นเดียว (monocoque design) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำ โดยการเข้าถึงกลไกต่างๆ จะต้องทำผ่านการถอดกระจกด้านหน้าเท่านั้น
แต่ยังคงใช้สารเรืองแสง Tritium พร้อมด้วยสัญลักษณ์อักษร T อยู่ในวงกลม โดยสาร Tritium นั้นเป็นสารกัมมันตรังสี ที่เบาบางกว่า Radium เป็นอย่างมากคือมี half-life ที่ 12 ปี (เมื่อเทียบกับ Radium ที่มี half-life ที่ 1,600 ปี) และถึงแม้ว่าเมื่อเสี่ยมสภาพแล้วจะไม่เรืองแสง แต่ Tritium จะเปลี่ยนสีตามกาลเวลาเป็นสีครีม (หรือที่เรียกว่า patina) อันเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสมนาฬิกาวินเทจ
โดยที่นาฬิกา Hamilton W10 นี้ถูกส่งให้ใช้กับทั้ง 3 กองทัพ คือ กองทัพบก, เรือ, และอากาศ โดยใช้รหัสแตกต่างกัน คือ
- W10 ใช้สำหรับกองทัพบก (British Army)
- 0552 ใช้สำหรับกองทัพเรือ (Royal Navy) แต่มีส่วนหนึ่งเป็นจำนวนไม่มากที่ใช้รหัส 0555 สำหรับ Royal Marines และ/หรือ Royal Navy)
- 6BB ใช้สำหรับกองทัพอากาศ (Royal Air Force – RAF)
ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1970s ทาง Hamilton ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Quartz Crisis ไม่ต่างจากบริษัทผลิตนาฬิกาอื่นๆ และสุดท้ายต้องถูกยกเลิกจากการผลิตนาฬิกาให้กับทางกองทัพฯ
จุดกำเนิด CWC W10
อย่างไรก็ดี ยังมีผู้บริหารของ Hamilton ที่เป็นคนสัญชาติอังกฤษชื่อ Mr. Ray Mellor มองเห็นลู่ทางว่ายังมีความต้องการนาฬิกาทหาร จากทาง Ministry of Defense (MoD) ดังนั้นในช่างเวลาดังกล่าว Mr. Ray Mellor ได้ก่อตั้งบริษัท Cabot Watch Company (CWC) เพื่อสานต่อการผลิตนาฬิกาให้กับทางกองทัพต่อจาก Hamilton
CWC เริ่มผลิตนาฬิกาส่งให้ทางกองทัพอังกฤษตั้งแต่ปี 1976 โดยใช้วัสดุ อุปกรณ์ จากสวิส เหมือนทาง Hamilton ทุกประการ ยกเว้นแค่เปลี่ยนโลโก้เป็น CWC บนหน้าปัดแทน แล้วหลังจากนั้นทาง CWC ก็กลายเป็นผู้ผลิตนาฬิกาหลักให้กับทางกองทัพฯ โดยมีการขยายไลน์การผลิตโดยมี รุ่น G10, มีนาฬิกาจับเวลา (chronograph) และนาฬิกาดำน้ำ จนไปถึงนาฬิกาสำหรับ หน่วยรบพิเศษอีกด้วย
บทสรุป
ก็จบไปแล้วนะครับ สำหรับประวัติ และที่มาของนาฬิกา W10 ที่ผมเชื่อว่า ใครที่ชื่นชอบนาฬิกาแนวทหาร น่าจะต้องรู้จัก หรือไม่ก็คุ้นกับรูปแบบของหน้าตานาฬิกา แต่ไม่ทราบว่ามันคือ W10 และผมหวังว่าข้อมูลที่ผมนำมาแบ่งปันให้เพื่อนๆ จะทำให้หลายๆ คนรู้จักนาฬิกาเรือนนี้มากขึ้นนะครับ
ข้อมูลอ้างอิงมาจากบทความ: 100 Years of British Military Watches – Part 2 – anOrdain เพื่อนๆ สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้นะครับ
ขอแถมนิดนึง สำหรับใครที่มีความคิดเหมือนกับผมที่ชื่นชอบ และอยากจะหานาฬิกา W10 มาใส่ และเก็บไว้ในคอลเล็คชั่น แต่ไม่อยากไปตามหาตัววินเทจ หรืออยากใส่โดยไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการดูแลนาฬิกาวินเทจ ผมขอแนะนำนาฬิกา 2 ยี่ห้อ ที่ผลิตตามรูปแบบเดิมไว้มากที่สุด และเพื่อนๆ ยังหาซื้อโดยตรงจาก Retailer ได้ ณ ปัจจุบัน คือ
- Hamilton Khaki Aviation Pilot Pioneer Mechanical (Ref.H76419931)
- Case size: 36mm x 33mm
- Movement: Caliber H-50 Mechanical 80 hours power reserve
- Thickness (mm): 9.95
- Lug width: 18mm
- Water Resistance: 10 bar (100m)
- Smiths Military PRS-29A by TIMEFACTORS
- Case size: 36mm
- Movement: Sellita SW210 Mechanical
- Thickness (mm): 11.1
- Lug width: 18mm
- Water Resistance: 10ATM/100m/330 feet
หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะ ข้อติชม เห็นด้วย หรือเห็นต่าง ตรงไหน อย่างไร สามารถเขียนมาในช่องคอมเม้นท์ ทางด้านล่างได้เลยนะครับ ผมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกๆ คน และหากมีข้อมูลอะไรผิดพลาด ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยครับ และฝากสนับสนุนผลงานของผม มาให้กำลังใจกันโดยการกดติดตาม IG: @mickyjicky และ @my.six.point.five.inch.wrist กันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
แล้วเจอกันใหม่ ในโพสถัดไปครับ!!