เล่าเรื่องนาฬิกา Vintage Seiko Speedtimer “Panda” Ref.6138-8020 ตอนที่ 1

ที่มา ความชอบ ประสบการณ์การตามหากับ 2 ปีที่รอคอย กับอีก 1 ปีในการใช้งานจริง บทเรียนที่ได้มา และสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากนาฬิกาเรือนนี้ เนื่องจากผมตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในทุกแง่มุมโดยละเอียด และเพื่อไม่ให้บทความยาวจนเกินไป ผมจึงต้องขอแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอนหลักๆ ก็คือ

  1. ที่มาของความชอบ
  2. ช่วงเวลาตามหา และการรอ
  3. บทเรียนต่างๆ และการแก้ปัญหา
  4. ประสบการณ์ใช้งาน และใช้ชีวิตกับนาฬิกาเรือนนี้

ตอนที่ 1 ทำไมต้องเป็นเรือนนี้

ถ้าจะให้พิจารณาหาเหตุผล ก็คงน่าจะมาจากความชอบในฟังก์ชั่นจับเวลา ซึ่งถ้าเราคิดถึงในสมัยก่อนที่จะมีเครื่องมือจับเวลาที่เป็นระบบดิจิตอล นาฬิกาที่มีกลไกจับเวลาถือเป็นเครื่องมือชนิดเดียวที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ เช่น ในการแข่งขันกีฬาเพื่อพิสูจน์ความเร็ว หรือใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ต้องการความแม่นยำในการจับเวลา แม้แต่เรื่องในชีวิตประจำวัน เช่นการทำอาหาร ทุกคนเกี่ยวผันกับเวลากันทุกวัน จนบางทีเราอาจจะลืมนึกถึงไปด้วยซ้ำ และเมื่อนึกถึงว่าภายในนาฬิกาเรือนเล็กๆ นี้บรรจุไปด้วยกลไก ฟันเฝือง ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อใช้ทั้งบอกเวลา และยังสามารถให้เราจับเวลาสำหรับกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วย สำหรับผมนั้นมันน่าทึ่งมากๆ

สำหรับผม ในวัยเด็ก (คงไม่ต่างเด็กผู้ชายหลายๆ คน) นั้นมีความหลงใหลในเรื่องของระบบสุริยะจักรวาล และการเดินทางออกนอกโลกไปในอวกาศ และอีกเรื่องที่หลงใหลไม่แพ้กัน คือการรถแข่ง การได้เห็นรถที่ออกแบบมาเพื่อทำความเร็ว และวิ่งในสนามแข่ง ทำให้รู้สึกตื่นเต้น และทำให้ผมมุ่งความสนใจไปได้ทุกครั้ง ดังนั้นนาฬิกาที่ผมได้เห็นคุ้นตา ที่ได้เห็นนักบินอวกาศ และนักขับรถแข่งใส่บนข้อมือของพวกเขา ก็nคือนาฬิกาจับเวลา และในภาพจำของผมก็คือ Omega Speedmaster และ Heuer Carrera

และถ้าพิจารณาต่อไป ผมมองเห็นถึงเสน่ห์ และความสวยงามที่นาฬิกาจับเวลามี แต่นาฬิกาประเภทอื่นไม่มี ก็คือ sub-dials กับขอบ bezel ที่แสดงตัวเลขต่างๆ ที่ดูสลับซับซ้อน และ ปุ่มด้านข้างที่ใช้ในการควบคุมการทำงาน Start / Stop / Reset ที่สร้างความแตกต่าง และเป็นเอกลักษณ์ที่เราสามารถมองเห็นแต่ไกลว่า “นี่คือนาฬิกาจับเวลา”

The 1st Automatic Chronograph Watch in the world

ในช่วงแรกที่ผมสนใจเกี่ยวกับนาฬิกา ก็คงไม่ต่างจากทุกๆ คน ที่เราจะรู้จักกับ Omega Speedmaster เป็นลำดับแรกๆ และก็อย่างที่ทุกคนทราบกันว่า Speedmaster ใช้กลไกไขลาน อันที่จริงแล้ว กลไกสำหรับนาฬิกาจับเวลาในระบบไขลานได้ถูกคิดค้นได้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1816 ณ เวลานั้นยังเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะ จนเมื่อปี ค.ศ.1913 เกือบ 100 ปีต่อมา ทาง Longines ได้พัฒนากกลไกนาฬิกาจับเวลาสำหรับนาฬิกาข้อมือ แต่กว่านาฬิกาข้อมือจะเป็นที่นิยม ก็คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังปี ค.ศ.1945 ถ้านับโดยรวมเป็นเวลาประมาณเกือบ 130 ปี

The first modern Chronograph by Louis Moinet

แต่กว่ากลไกออโตเมติก สำหรับนาฬิกาข้อมือจับเวลาจะถูกคิดค้น และพัฒนาจนสำเร็จได้ในปี ค.ศ.1969 ถ้านับจากเมื่อโลกมีกลไกจับเวลา ไขลานสำหรับนาฬิกาข้อมือครั้งแรก ก็ใช้เวลาเกือบ 60 ปี

56 Years ago, who was the first? Heuer, Breitling, Buren-Hamilton, Zenith, or Seiko?

ครั้งแรกที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลนี้ ยิ่งที่ให้ผมทึ่งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวงการนาฬิกาในช่วงปี 1913-1969 หากลองพิจารณาระยะเวลาการในที่จะพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใดๆ ระยะเวลา 60 ปีนับเป็นเวลาที่นานมาก ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่า การพัฒนากลไกจากไขลาน มาสู่ออโตเมติกของนาฬิกาจับเวลาไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ และสิ่งที่ทำให้ผมให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากก็เพราะว่า ในประวัติศาสตร์ของนาฬิกามีหลากหลายความคิดเห็นว่า “ใครกันแน่ที่เป็นแบรนด์นาฬิกาเจ้าแรกที่ผลิตนาฬิกาจับเวลาออโต้ได้สำเร็จ?” ตามที่ได้เล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้ ปี ค.ศ.1969 (ตรงกับ พุทธศักราช 2512) นั้นเป็นปีที่มีความสำคัญ และเหตุการณ์น่าสนใจ ตามลำดับเวลาดังนี้

เดือนมกราคม ค.ศ.1969: “El-Primero”

วันที่ 10 มกราคม ปี 1969 ทางแบรนด์ Zenith ได้เปิดตัว prototype รุ่น El Primero เป็นครั้งแรก นาฬิกาตัวต้นแบบนี้ใช้เครื่องคาลิเบอร์ 3019 PHC ซึ่งเป็นระบบ Column Wheel ความถี่สูง 5Hz และมีพลังงานสำรองได้ 50 ชั่วโมง แต่เนื่องจากแบรนด์ Zenith ในสมัยนั้น ยังเป็นแบรนด์เล็กๆ ที่ยังไม่มีความสามารถในการผลิตได้อย่างรวดเร็ว กว่าที่ทางแบรนด์จะสามารถผลิตนาฬิกาตัวที่เป็นสินค้าสำหรับขายจริงได้ ก็คือเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน และก็เป็น Zenith El Primero นี่เองที่ทาง Rolex นำเครื่องไปใช้กับรุ่น Daytona ในช่วงปี 1988-2000 โดยสรุป Zenith ถือเป็นแบรนด์แรกที่ได้เปิดตัวกลไก El Primero สำหรับการจับเวลาระบบออโต้ สู่สาธารณะเป็นเจ้าแรก

เดือนมีนาคม ปี 1969: “Calibre 11”

The Project 99 & Caliber 11

ด้วยความร่วมมือกันของแบรนด์นาฬิกาสวิส Heuer, Breitling, Buren-Hamilton กับแบรนด์ผลิตกลไกนาฬิกาจากสวิสชื่อ Dubois-Depraz ภายใต้โครงการชื่อ “Project 99” ได้ประกาศสู่สาธารณะว่าสามารถผลิตกลไกจับเวลา ระบบออโต้ ภายใต้ชื่อ “Chromatic” โดยที่กลไกนี้ใช้ระบบ “lever-and-cam” ซึ่งเป็นกลไกแยกชุดสำหรับใช้ประกบกับกลไกนาฬิกาบอกเวลาปกติ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถนำ โมดูลจับเวลา Chronomatic นี้ไปใช้ได้กับ กลไกบอกเวลาปกติของแต่ละแบรนด์ที่มาร่วมโครงการนี้ได้ ในลักษณะเดียวกันกับทาง Zenith ทางทีม Project 99 ยังไม่มีนาฬิกาออกขายสู่ตลาดได้จริง จนต่อมาทาง Heuer, Breitling, Buren-Hamilton ได้จำหน่ายนาฬิการุ่นต่างๆ เช่น Monaco, Autovia, Navitimer, และ Chronomatโดยใช้กลไกชื่อเดียวกันคือ “Caliber 11” ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมาในปีเดียวกัน

เดือนพฤษภาคม ปี 1969: “Caliber 6139”

Seiko 6139 Speedtimer

ทางแบรนด์ Seiko ได้เปิดตัว และเปิดขายนาฬิกาจับเวลาระบบออโต้เป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อรุ่นว่า “Speedtimer” แต่เป็นการขายเฉพาะภายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น โดยใช้กลไกคาลิเบอร์ 6139 ซึ่งเป็นระบบ Column Wheel ผนวกเข้ากับ Vertical Clutch มีการแสดงหน้าปัดย่อยในการจับเวลาได้สูงสุด 30 นาทีในตำแหน่ง 6 นาฬิกา และยังมีฟังก์ชั่นบอก วัน และวันที่ ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา

จากที่ผมได้บรรยายมาทั้งหมดข้างต้น หรือเราจะบอกได้ว่าแบรนด์ที่สามารถผลิตกลไกได้สำเร็จ และสามารถจำหน่ายให้ลูกค้าได้ใช้งานจริงๆ เป็นคนแรกก็คือ แบรนด์ Seiko? อันนี้ก็แล้วแต่ความเห็นของแต่ละบุคคล

When I first met the 6138-8020

เมื่อผมได้รู้จัก Seiko Ref.6139 ถึงแม้ผมจะชื่นชมในความเป็นนาฬิกาแบรนด์ญี่ปุ่นที่สามารถแข่งขันในการพัฒนาได้เทียบเท่ากับเหล่าแบรนด์สวิส แต่ผมก็ยังไม่ได้ชอบกับหน้าตา ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงเคส การวางรูปแบบหน้าปัด หรือแม้แต่คู่สีที่ทาง Seiko เลือกใช้ และความสนใจของผมก็หยุดไว้แค่นั้น จนกระทั่งวันนึงที่ผมไปเปิดเจอโพสนี้เข้า

Post from IG Account: A_WATCHGUYS_LIFE

ครั้งแรกที่ผมเห็นนาฬิกาเรือนนี้ ผมสะดุดกับหน้าปัดเป็นอย่างแรกที่ทำให้ผมหยุดจ้องดูอยู่นานว่า อะไรที่ทำให้ผมชอบนาฬิกาเรือนนี้ มากกว่า Seiko Chronograph เรือนอื่นๆ ที่ผมเห็นผ่านมาหลายต่อหลายรุ่น

  • ความเป็นเอกลักษณ์

โดยทั่วไปที่เราเห็นนาฬิกา Chronograph จากแบรนด์ Seiko ในยุคปัจจุบัน มักจะออกแบบโดยไปอิงกับหน้าตาการออกแบบของ Rolex Daytona คือการวาง sub-dial สามวง อยู่ในส่วนครึ่งวงกลมล่างของหน้าปัดนาฬิกา และการออกแบบ แบบนี้ที่ไม่เคยเรียกความสนใจจากผมได้ และยิ่งได้ฟังรีวิวว่า “มองไกลๆ เหมือนได้ใส่ Daytona” ยิ่งทำให้ผมถอยห่างจาก Seiko Chronograph ในยุดปัจจุบัน

Modern Seiko Chronograph Watches

แต่สำหรับ Seiko Ref.6138 มีการจัดวาง Sub-dial ที่แตกต่างชัดเจน โดยมีเพียงสองวง และวางในแนวตั้งที่ตำแหน่ง หกนาฬิกาเป็นการแสดงการจับเวลาในหน่วยนาที และที่สิบสองนาฬิกาเป็นการแสดงการจับเวลาในหน่วยชั่วโมง (Ref.6139 มีเพียง sub-dial เดียวที่ หกนาฬิกา เพื่อแสดงหลักนาที) การออกแบบ และการจัดวางแบบนี้ สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างมาก

  • ความสมดุล สมมาตร และสะอาดตา

นอกจาก Sub-dial ในแนวตั้งจะสร้างเอกลักษณ์ในการออกแบบ ยังแบ่งหน้าปัดออกเป็น 2 ข้างซ้าย ขวาได้อย่างสมดุล การแก้ปัญหาในการออกแบบอย่างชาญฉลาดยังไม่จบแค่นั้น ผู้ออกแบบย้ายตำแหน่งโลโก้ที่ปกติจะวางอยู่บริเวณใต้ตำแหน่งหลักชั่วโมงที่ 12 นาฬิกา ให้มาอยู่ทางฝั่งซ้ายของหน้าปัดที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา และยังออกแบบให้ขนาดฟอนท์ และความยาว เพื่อให้บาลานซ์กับขนาดหน้าต่างวัน และวันที่ ที่อยู่ฝั่งขวาบริเวณ 3 นาฬิกา ผลลัพธ์ที่ได้คือหน้าปัดที่ออกแบบ การวางตำแหน่งได้สมดุลทั้งแนวตั้ง และแนวนอน ไม่มีสิ่งใดมาขัดสายตาเลยแม้แต่น้อย

อีกหนึ่งการออกแบบที่ทำให้หน้าปัดนาฬิกาเรือนนี้ดูไม่รก และไม่เต็มไปด้วยตัวเลขต่างๆ ตามลักษณะที่เราสามารถเห็นได้โดยทั่วไปของนาฬิกา Chronograph ก็คือการตัดสินใจย้าย Tachymeter scale จากขอบเบเซิลภายนอกให้มาอยู่ขอบด้านในรอบหน้าปัดนาฬิกา (inner chapter ring) โดยที่วางอยู่บนพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างหน้าปัด และกระจกคริสตัล (มีศัพท์เฉพาะเรียกบริเวณดังกล่าวว่า rehault)

อย่างสุดท้ายก็คือ “หลักชั่วโมงที่เป็นหลักขีด” ถ้าลองนึกกันดีๆ โดยทั่วไปนาฬิกา Chronograph จะออกแบบหลักชั่วโมงให้เป็นขีดอยู่แล้ว เพื่อลดจำนวนตัวเลข ที่มีเยอะอยู่แล้วบนหน้าปัด และถ้ามองในแง่ของความจำเป็นในการใช้งาน เราไม่จำเป็นต้องอ่านเวลาในหลักชั่วโมงให้ชัดเจนเหมือนกับนาฬิกาทางการทหาร เช่น Field Watch หรือ Pilot Watch ที่แสดงหลักชั่วโมงเป็นตัวเลขอารบิกให้ตัวใหญ่ชัดเจนเพียงแค่เหลือบตามอง

ทั้งหมดนี้เมื่อนำมารวมกันทำให้ผลลัพธ์ที่ได้คือ หน้าปัดนาฬิกาที่แบ่งน้ำหนักได้สมดุลทั้งสองแกน มีความสมมาตรในการวางตำแหน่งส่วนที่สำคัญต่างๆ ทั้งหมด และยังดูสะอาดตา อ่านค่าทุกอย่างได้อย่างถูกต้องชัดเจนตามหน้าที่ ที่ควรจะเป็น

  • สี และสัดส่วนสำคัญ

หลักๆ ก็คือหน้าปัดเรือนนี้มีพื้นหลังสีขาว และ sub-dial เป็นสีเข้ม หรือที่เรารู้จักกันว่า “Panda Dial” สำหรับตัวผมมีความชอบหน้าปัด panda มากกว่า reversed-panda เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมาเจอเรือนนี้จึงถูกใจได้ไม่ยาก แต่ที่ผมเห็นความตั้งใจอีกอย่างของผู้ออกแบบก็คือการควบคุมปริมาณของสีไม่ให้มากจนเกินไป ถ้าเรามองให้ดีๆ จะเห็นว่าหลักๆ บนหน้าปัดมีเพียง 2 สีหลัก คือ พื้นหน้าปัดสีขาว (จริงๆ แล้วคือสีเงิน) และ sub-dial กับ tachymeter scale สีดำ (จริงๆ แล้วคือสีเทาอมน้ำเงินเช้ม) และมีไฮไลท์สีแดงที่บริเวณปลายเข็มจับเวลาเท่านั้น ซึ่งการออกแบบนี้ให้ความ monochromatic โดยรวม และสีแดงที่ปลายเข็มจับเวลานั้นสร้างจุดสนใจบนหน้าปัด และยังช่วยให้อ่านค่าได้อย่างชัดเจนเป็นอย่างมาก

สัดส่วนสำคัญที่ผมหมายถึงคือ ขนาดเคสที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 41มม แต่ระยะ lug-to-lug เพียง 46มม ซึ่งถ้ามองจากรูปจะเห็นว่าส่วน lug ของนาฬิกาเรือนนี้นั้นสั้นมากทำให้ผมคิดว่ามันสามารถอยู่บนข้อมือผมได้โดยที่มองแล้วขัดสายตา และอีกส่วนที่สำคัญคือความหนาเพียง 14.5มม ซึ่งถือว่าบางกว่านาฬิกาจับเวลาโดยทั่วไป (ไม่นับระบบ quartz) ณ เวลานั้นผมยังไม่เคยได้มีโอกาสได้ลองทาบบนข้อมือผมจริงๆ เลยสักครั้ง แต่ด้วยประสบการณ์และความเข้าใจจากตัวเลขระยะทั้งหมด ผมก็มีความหวังว่าผมน่าจะใส่นาฬิกาเรือนนี้เหมาะสมกับขนาดข้อมือ 6.5 นิ้ว และน่าจะใส่สบายด้วย

The Successor of an icon Ref.6139

หลังจากนั้น ผมจึงเริ่มค้นข้อมูลต่อไป ว่านาฬิกาเรือนนี้คือรุ่นอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เลยทำให้ผมได้ทราบถึงความเชื่อมโยงกันระหว่าง Ref.6138 ที่ผมชอบในหน้าตา กับ Ref.6139 ที่ผมชื่นชมในประวัติศาสตร์ความสำเร็จของกลไก และยิ่งได้ทราบว่า 6138 เป็นเครื่องที่ทาง Seiko พัฒนาต่อยอดได้ดียิ่งกว่า 6139 เลยยิ่งทำให้ผมชื่นชอบมากขึ้นไปอีก

Seiko Ref.6139 มีช่วงระยะเวลาที่ทำการตลาดทั้งหมด 10 ปี ตั้งแต่ปี 1969-1979 แต่หลังจาก รุ่น 6139 เริ่มผลิตได้เพียง 1 ปี ทาง Seiko ก็ได้ส่งรุ่น 6138 ตามออกมาทันที โดยที่ Ref.6138 มีช่วงระยะเวลาอยู่บนสายการผลิตทั้งหมด 9 ปี ตั้งแต่ปี 1970-1979 ภายในเก้าปีนั้นทาง Seiko ได้ผลิตรุ่นย่อยของ 6138 ออกมาถึง 10 รุ่นย่อย แน่นอน 6138-8020 “Panda” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

อันที่รู้กันว่านักสะสม และคนที่ชื่นชอบในนาฬิกา Seiko มักจะมีชื่อเล่นให้กับนาฬิกา Seiko รุ่นต่างๆ ในซีรีส์ 6138 ก็มีชื่อเล่นสำหรับ รุ่นย่อยทุกๆ รุ่นเช่นกัน

หลังจากที่ผมไล่ตามดูรุ่นย่อยทั้งหมด มีเพียง Ref.6138-8020 เท่านั้นที่ผมถูกชะตาด้วย อาจจะเป็นเพราะรุ่นย่อยอื่นๆ มีเคสมีเป็นลักษณะเหลี่ยมมุมชัดเจน และยังมีสีสันต่างๆ ที่ยังไม่ได้ถูกใจผมเท่าที่ควร แต่ก็เป็นข้อดีของความหลากหลาย และมีตัวเลือกให้เหล่านักสะสมที่ก็มีความชอบที่แตกต่างกัน น่าจะต้องถูกใจเข้าซักรุ่นย่อยล่ะกัน

บทสรุป สำหรับตอนที่ 1

และนี่ก็คือที่มา และเหตุผลทั้งหมดที่ผมชื่นชอบนาฬิกาเรือนนี้ ก็หวังว่าสิ่งที่ผมเล่าให้ทุกคนฟัง จะมีบางส่วน บางตอนที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนบ้างไม่มากก็น้อย ในบทที่ 2 ผมจะพูดถึงขั้นตอนต่อมา จากที่เราชื่นชอบ ก็ถึงเวลาค้นหา ซึ่งผมใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี (จากปี 2022 ที่เริ่มสนใจ จนมาได้ซื้อในปี 2024) ในระยะเวลาสองปีนั้น มีอะไรเกิดขึ้นกับผมบ้าง รอติดตามในตอนต่อไปครับ

An unexpected Nomos

Nomos has been my favorite watch brand from Glashütte
Germany with its heritage, manufacturing almost 100% in-house, and Bauhaus design language.

My love at first sight with Nomos is their Sport Collection; “Club” and their Contemporary Collection; “Orion” and “Zürich” instead of their Classic Collection; “Tangente” and “Lugwig” which contains all of the Nomos signature design element i.e. straight & slim lug, perfect circle case, original fonts, etc.

However, because of its famous “long lug” that always stopped me to get one into my collection.

Just recently, I had a chance to see and touch Tangente in the metal for the first time. I told myself that it’s very outstanding from the others siblings. Once I put it on my wrist, all the feeling that I afraid of the lug, the boring round case, and a very simple dial was disappeared.

This watch put a big smile on my face and I knew in the sudden this is the Nomos that I’ve been searching for a long long time. Sometime boring and simple designs are not the bad things and you have to really see the watch up close in the metal and put it on your wrist to really understand and to know exactly what you feel with that watch. The same way that I experienced with this Nomos Tangente 38mm.

มารู้จักที่มาของนาฬิการหัส W10 กันครับ ว่าทำไมผมถึงหลงรักนาฬิกาทหารจากฝั่งอังกฤษเรือนนี้ ตอนที่ 1

เป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในรูปแบบของนาฬิกาที่ถูกเอามาเป็นต้นแบบในการออกแบบนาฬิกาซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือ “นาฬิกาที่ใช้ทางการทหาร” (Military Watch or Field Watch) ซึ่งต่อไปผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “นาฬิกาทหาร” นะครับ

เนื่องด้วยต้นกำเนิดของนาฬิกาทหาร ที่ถูกออกแบบด้วยพื้นฐานหลัก คือ

  1. ต้องอ่านเวลาได้อย่างชัดเจน และรวดเร็ว (Legible)
  2. ต้องมีกลไกที่เที่ยงตรง และตัวเรือนที่ทนทาน (Dependable)
  3. ต้องสวมใส่ได้อย่างสบาย และคล่องตัว (Comfortable)
WWW Watch หรือที่เรียกชื่อเล่นกันว่า “Dirty Dozen” เรือนนี้ผลิตโดย Grana (Source: www.hodinkee.com)

จะเห็นได้ว่า ด้วยหลักการออกแบบทั้ง 3 ข้อด้านบนนั้น แทบจะเป็นหลักการพื้นฐานในการออกแบบนาฬิกาทุกเรือนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ และด้วยการยึดหลักการออกแบบเดังกล่าวจึงไม่ผิดนักที่จะพูดว่า นาฬิกาทหารนั้น เป็นนาฬิกาเพื่อการใช้งานอย่างแท้จริง (Tool Watch) โดยไม่คำนึงถึงความสวยงาม และตัดงานออกแบบที่ไม่มีความจำเป็นออกไป (Form Follow Function หรือจะเรียกว่า Form is Function ก็ยังได้)

ประวัติของนาฬิกาทหารจากฝั่งอังกฤษ

เนื่องจากนาฬิการหัส W10 นั้น มีต้นกำเนิดมาจากทางกองทัพประเทศอังกฤษ ดังนั้นในบทความนี้ผมจึงขอเล่าที่มาของนาฬิกาทางการทหารที่ใช้ในกองทัพอังกฤษเท่านั้น ว่ามีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และได้มีวิวัฒนาการต่อมาอย่างไร จนมาถึงนาฬิกา W10 ซึ่งพอเราได้ทราบถึงที่มา และเรื่องราวต่างๆแล้วจะทำให้เรายิ่งเข้าใจมากขึ้น เพราะทุกอย่างมันเกิดมาจากความจำเป็น และความเป็นความตายของชีวิตทหารในสนามรบจริงๆ

ขอแจ้งให้ทราบนะครับว่า ในประวัติศาสตร์ของนาฬิกาทหารนั้น ยังมีเรื่องราวของทางฝั่งประเทศอื่นๆ อีก เช่น กองทัพฝรั่งเศส กองทัพเยอรมัน กองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพปลดปล่อยประชาชนของประเทศจีน ซึ่งจริงๆ แล้วในแต่ละประเทศก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน หากมีโอกาสผมจะเขียนถึงในอนาคตนะครับ

สงคราวโลกครั้งที่ 1 (คศ 1914-1918 หรือ พศ 2457-2461)

ระยะเวลา 4 ปี ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 และในปี 2457 ประเทศไทยได้เปิดบริการ ท่าอากาศยานดอนเมือง และโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นครั้งแรก

ก่อนหน้าสงครามจะเริ่มต้น คุณผู้ชายส่วนใหญ่ใช้นาฬิกาพก (Pocket Watch) เป็นหลัก ส่วนนาฬิกาข้อมือก็มีแล้วนะครับ แต่มีไว้สำหรับสุภาพสตรี และถือว่าเป็นเครื่องประดับ ของสวยงามของเหล่าชนชั้นสูง

The British Army in the United Kingdom 1939-45 (Source: www.iwm.org.uk)

เมื่อสงครามเริ่มต้น เหล่าทหารเริ่มเห็นความไม่สะดวกในการใช้นาฬิกาพกในสนามรบ เพราะกว่าจะหยิบนาฬิกาออกมาจากกระเป๋า เปิดฝาครอบเพื่ออ่านเวลา แล้วยังจะต้องปิด และเก็บกลับเข้ากระเป๋าอีก

ในช่วงเวลาความเป็นความตาย กับการวิ่งในสนามรบขึ้น ลง ในหลุมหรือร่องดิน (Trench) เพื่อหลบกระสุน และระเบิดจากข้าศึก จึงเริ่มมีการนำเอานาฬิกา pocket watch มาดัดแปลงโดยการเพิ่มลวด เพื่อให้สามารถนำสายมารัดไว้ที่ข้อมือ ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของนาฬิกาแบบใหม่ที่เรียกว่า “Trench Watch” เป็นครั้งแรก

ตัวอย่างนาฬิกา trench watch รุ่นแรกๆ ปี 1914 ที่ดัดแปลงมาจากนาฬิกาพก จะเห็นว่าหน้าปัดยังเป็น enamel และยังไม่มีสารเรืองแสง (Source: www.anordain.com)

นาฬิกา Trench Watch ถือว่าเป็นรอยต่อระหว่าง Pocket Watch และ Wristwatch ซึ่งในเวลานั้นทหารยังต้องหาซื้อนาฬิกาเหล่านี้กันเอง ทางกองทัพและรัฐบาลยังไม่ได้มีการจัดหาให้แต่อย่างใด

ต่อมาเริ่มมีการใช้สารเรืองแสง แต้มลงบนหลักชั่วโมง และเข็มนาฬิกา (คือ Radium ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี) และใช้การบอกค่าแบบ 24 ชั่วโมง ตามรูปแบบการบอกเวลาทางการทหาร ส่วนตัวเรือนถูกออกแบบให้ป้องกันน้ำ และฝุ่น และยังมีการเสริมวัสดุป้องกันกระจกหน้าปัดแตกอีกด้วย

หลังจากที่มีการพัฒนาการออกแบบรูปแบบหน้าปัดนาฬิกาแบบต่างๆ จึงเริ่มเป็นที่ยอมรับกันว่า การใช้รูปแบบหน้าปัดที่ใช้ตัวเลข และเข็มเป็นสีขาว บนพื้นหลังสีดำนั้น เป็นการออกแบบที่ทำให้อ่านค่าชัดเจน และรวดเร็ว มากกว่าตัวเลขและเข็มสีดำบนพื้นหลังสีขาว จนกลายมาเป็นมาตราฐานของนาฬิกาทหารต่อมาจนถึงปัจจุบัน

รูปแสดงเปรียบเทียบให้เห็น รูปซ้ายเป็น trench watch จากปี 1914 และรูปขวาเป็นของปี 1918 จะถึงความแตกต่างของรูปแบบ และจะเห็นได้ว่า การใช้ตัวเลข และเข็มสีขาว บนพื้นหลังสีดำ จะทำให้อ่านค่าได้ชัดเจนและรวดเร็วกว่า (Source: www.anordain.com)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง เหล่าทหารผ่านศึกต่างเดินทางกับภูมิลำเนา พร้อมกับนาฬิกา trench watch ของพวกเขา ดังนั้นภาพลักษณ์ของนาฬิกาข้อมือที่เคยวางไว้สำหรับสุภาพสตรีเท่านั้นจึงหมดไป แต่กลับเป็นที่ยอมรับว่านาฬิกาข้อมือนั้น สามารถใส่ได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง พร้อมกับการเสื่อมความนิยมของนาฬิกา pocket watch ตั้งแต่ช่วงเวลานั้น

สงครามโลกครั้งที่ 2 (คศ 1939-1945 หรือ พศ 2482-2488)

ระยะเวลา 6 ปี ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 และในปี 2482 สยามประเทศ เปลี่ยนชื่อเป็น ประเทศไทย และประเทศไทยยังแสดงความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

21 ปี หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 1 นาฬิกาข้อมือเป็นที่นิยมสำหรับผู้ชายโดยทั่วไป อย่างไรก็ดี ทางกองทัพอังกฤษยังมีการใช้นาฬิกา pocket watch ในกองทัพอยู่บ้าง (สำหรับนายทหาร เจ้าหน้าที่ระดับสูง) โดยใช้รหัส GSTP – General Service Time Piece สลักไว้ที่ด้านหลังตัวเรือน

ในระหว่างสงคราม เริ่มมีการใช้นาฬิกาข้อมือให้สำหรับกองทัพบกอังกฤษ ที่มีชื่อเรียกว่า ATP – Army Time Piece หรือ Army Trade Pattern ซึ่งนาฬิกา ATP ถึงแม้ว่าจะเริ่มใส่สเปคฯ พิเศษ เช่น การมองเห็นในเวลากลางคืน แต่โดยพื้นฐานหลัก ยังใกล้เคียงกับนาฬิกาสำหรับพลเรือน โดยที่ตัวเรือนส่วนใหญ่ผลิตจากทองเหลืองชุบโครเมียม (Chrome Plated Brass) และยังมีส่วนน้อยที่ตัวเรือนเป็นสแตนเลสสตีล ส่วนกลไกจะเป็นไขลาน ผลิตจากสวิส แต่จำนวนที่ผลิตให้กับกองทัพอังกฤษนั้น เทียบไม่ได้กับที่ทางสวิสผลิตให้กับทางฝ่ายอักษะ (กองทัพ เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น)

ส่วนนาฬิกาสำหรับกองทัพอากาศอังกฤษ (หลายๆ คนน่าจะคุ้นกับตัวย่อ RAF – Royal Air Force) จะมีมาตราฐาน และสเปคที่สูงกว่านาฬิกาสำหรับกองทัพบกเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักบินนั้นต้องการความเที่ยงตรงที่สูงกว่า เพื่อภารกิจสำคัญ เช่น การทิ้งระเบิด การนำทาง และรวมไปถึงการคำนวณปริมาณเชื้อเพลิง และระยะเวลาที่เหลือในการบิน

นาฬิกาสำหรับกองทัพเรืออังกฤษ (Royal Navy) ที่ใช้เป็นหลักสำหรับภารกิจสำหรับเรือดำน้ำ จะเป็นนาฬิกาจับเวลา (Stopwatch) เพื่อคำนวณระยะห่างของเรือดำน้ำข้าศึก โดยใช้ชื่อรหัสย่อว่า ASDIC – Allied Submarine Detection Investigation Committee แต่บางแหล่งเห็นว่า ตัวย่อ ASD – Anti Submarine Division น่าจะถูกต้องกว่า

นาฬิกา WWW – WristWatch Waterproof ทั้งหมด 12 แบรนด์จากสวิสฯ ที่มีของฉายา Dirty Dozen (Source: www.acollectedman.com)
ตารางแสดงจำนวนที่ผลิตนาฬิกา www ของแต่ละแบรนด์ จาก Konrad Khirim’s Book “British Military Timepieces” (Source: www.acollectedman.com)

จนมาถึงช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาของ WWW – WristWatch Waterproof ซึ่งนาฬิการหัส WWW นี้ถูกผลิตบนพื้นฐานสเปคจากทาง Britrain’s Ministry of Defence (MoD) และถือว่าเป็นนาฬิกาชุดแรกที่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยทางกองทัพอังกฤษ โดยมีบริษัทผลิตจากประเทศสวิสฯ ทั้งหมด 12 แบรนด์ได้เซ็นสัญญาผลิตนาฬิกาให้กับกองทัพอังกฤษ ได้แก่ Buren, Cyma, Eterna, Grana, Jaeger Le-coultre, Lemania, Longines, IWC, Omega, Record, Timor, Vertex จึงเป็นที่มาของอีกชื่อที่ใช้เรียกนาฬิกาแบบนี้ว่า “Dirty Dozen” โดยเริ่มผลิตออกใช้งานในปี 1945 มีการประเมินไว้ว่านาฬิกา WWW ถูกผลิตออกมาทั้งหมดประมาณ 145,000 เรือน (โดยแต่ละแบรนด์ผลิตในจำนวนไม่เท่ากัน บางแบรนด์ผลิตจำนวนสูงหลักหมื่น ในขณะที่บางแบรนด์ผลิตเพียงหลักพันเรือนเท่านั้น)

สเปคจากทางกองทัพฯ สำหรับนาฬิกา Dirty Dozen ระบุไว้ว่าตัวเรือนต้องผลิตจากวัสดุสแตนเลสสตีล ต้องมีคุณสัมบัติในการกันน้ำ กลไกยังคงเป็นไขลานแต่ให้มีมาตราฐาน ความเที่ยงตรง และคุณภาพที่สูงขึ้น และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เช่น การใช้ตัวเลขบอกหลักชั่วโมง รูปแบบเข็ม การแต้มสารเรืองแสงสีขาว บนพื้นหลังสีดำ โดยทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่การวางรากฐานใหม่ และสร้างรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ (Iconic) ให้กับนาฬิกากองทัพอังกฤษในเวลาต่อมา

Grana คือบริษัทที่ผลิตจำนวนน้อยที่สุด 1,000-1,500 เรือน ถือเป็นตัว rare ที่สุดใน 12 แบรนด์ (Source: www.acollectedman.com)
นาฬิกา WWW จาก IWC พร้อม original box (Source: www.acollectedman.com)

บทสรุป

จะเห็นไว้ว่าหมุดหมายสำคัญ ของเรื่องราวในช่วงนี้คือ ต้นกำเนิดของนาฬิกาข้อมือสำหรับผู้ชายเริ่มเมื่อตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ผมต้องขอจบตอนที่ 1 ณ ช่วงเวลาสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนาฬิกา WWW ไว้เท่านี้ เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวจนเกินไป แล้วตอนต่อไปเราจะเดินทางต่อไปในช่วงสงครามเย็น ซึ่งนาฬิกา W10 ได้ถึงกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อย่าลืมมาติดตามกันต่อนะครับ

ข้อมูลทั้งหมดในบทความนี้ ผมได้ค้นคว้ามาจากหลายๆ บทความจากทางต่างประเทศซึ่งเขียนไว้อย่างดีมาก แล้วจึงมาสรุปมาให้ทุกคนได้อ่านเป็นภาษาไทย เป็นข้อๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้นกันนะครับ ถ้าหากเพื่อนๆ สนใจอยากเข้าไปอ่านเพิ่มเติม สามารถคลิ๊กที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะ ข้อติชม เห็นด้วย หรือเห็นต่างตรงไหน สามารถเขียนมาในช่องคอมเม้นท์ด้านล่างได้เลยนะครับ ผมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกๆ คน และหากมีข้อมูลอะไรผิดพลาด ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ และฝากสนับสนุนผลงานของผม มาให้กำลังใจกันโดยการกดติดตาม IG: @mickyjicky และ @my.six.point.five.inch.wrist กันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

แล้วเจอกันใหม่ ในโพสถัดไปครับ!!