สะสมนาฬิกายังไงให้สนุก? ลองหามุมที่คุณชอบ

จากโพสที่แล้ว ที่ผมได้เล่าเกี่ยวกับคอลเล็คชั่นนาฬิกาปัจจุบันของผมให้ทุกคนทราบกัน และผมได้ทิ้งโน๊ตไว้ว่า จะเล่าถึงนาฬิกาที่ผมวางแผนจะมีไว้ในคอลเล็คชั่นในอนาคต ในโพสถัดไป

แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องนั้น ผมอยากจะแชร์ “วิธีคิด” ที่ผมคิดว่า มีความสำคัญมาก ที่ทำให้การสะสมนาฬิกานั้น สนุกขึ้น และบางทีมันอาจจะทำให้มีคุณค่าทางจิตใจมากขึ้นด้วย เพื่อนๆ ลองพิจารณาดูครับ

สิ่งนั้นคือ การหา “มุมที่คุณชอบ” หรือ “มุมที่ทำให้คุณหลงใหล” ในนาฬิกา

ผมเชื่อว่า พวกเราในช่วงแรกๆ ที่เริ่มสนใจนาฬิกา เกือบจะทุกคนจะมุ่งความสนใจไปที่ นาฬิกายอดฮิตทั้งหลาย เช่น Rolex Submariner, GMT-Master II, Daytona, Omega Speedmaster, Seamaster, Patek Philippe Nautilus, Audemars Piguet Royal Oak

Source: www.gearpatrol.com

ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะนาฬิกาที่พูดถึงนั้นสวยทุกเรือน และอยู่เต็มหน้าฟีด บนโลกโซเชียล และก็เพราะนาฬิกาเหล่านี้นั่นแหละ ที่ทำให้พวกเราสนใจนาฬิกามาตั้งแต่แรก

Patek Philippe’s Nautilus 5711/1A-010 & Audemars Piguet Royal Oak Jumbo. Source: USA.watch pro.com

ตัวผมก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนๆ ทุกคน ที่สนใจและอยากจะได้นาฬิกาเหล่านั้นมาเก็บไว้ในคอลเล็คชั่น แต่ก็ต้องเจอปัญหาว่า ทำไมราคามันถึงได้สูงเหลือเกิน แถมราคาก็ยังเพิ่มขึ้นทุกปีอีก และที่สำคัญสุดเลยคือ มันไม่สามารถซื้อกับทางตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (Authorized Dealer; AD) ได้ ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีของในสต็อค แล้วจะต้องลงชื่อไว้ใน Interesting List (ขอย้ำว่า ไม่ใช่ Waiting List) ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะถึงคิวเราเมื่อไหร่ แต่ถ้าเป็นเรือนที่คนต้องการมากๆ ยังจะต้องไปซื้อเรือนอื่นๆ (ที่เราไม่ได้อยากได้) มาก่อน เพื่อสะสมยอดซื้อจนถึงระดับที่จะมีสิทธิ์ ลงชื่อใน Waiting List

ด้วยสถานการณ์แบบที่พูดถึงข้างต้น มันเคยถึงกับทำให้ผมเลิกสนใจนาฬิกาไปพักใหญ่ เพราะผมรู้สึกว่า มันไม่ใช่งานอดิเรกที่ทำให้เรามีความสุข หรือสนุกไปกับมันอีกต่อไป

จนมาถึงวันนึงที่ผมหันมาเปิดใจ และกลับมาเริ่มสนใจนาฬิกาอีกครั้ง แต่คราวนี้ (อาจจะเนื่องด้วยอายุที่มากขึ้น และบวกกับการที่เราหันมาสนใจการแต่งตัวแบบ classic menswear ด้วย) ผมได้ศึกษาลงลึกมากขึ้น เกี่ยวกับนาฬิกาประเภทต่างๆ และจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น YouTube ทั้งใน และต่างประเทศ และ Website ที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาของต่างประเทศ (เอาไว้ผมจะเขียนบทความแยกต่างหาก เกี่ยวกับแหล่งข้อมูลนาฬิกาที่ผมเข้าไปติดตามเป็นประจำ)

มันทำให้ผมค้นพบว่ามันยังมีนาฬิกาที่สวย น่าสนใจ มีความซับซ้อน น่าศึกษา อีกเยอะมาก นอกเหนือจากนาฬิกาตามกระแสนิยมหลัก เช่น

Vintage Watches. Source: www.HODINKEE.com
  • นาฬิกาวินเทจ คือ นาฬิกาที่ถูกผลิตในช่วงก่อนปี คศ 1980 (พศ 2523) หรือบางแหล่งข้อมูลใช้หลักเกณฑ์ว่าเป็นนาฬิกาที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปี หรือ 50 ปี เป็นต้นไป
  • Independent Watch Markers คือ นาฬิกาที่ถูกออกแบบ ทั้งรูปแบบ หน้าตา กลไก และถูกผลิตในปริมาณที่น้อย ภายใต้แบรนด์ของตนเอง ไม่ขึ้นตรงกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ เช่น Roger W. Smith, Laurent Ferrier, MB&F, Naoya Hida เป็นต้น
  • นาฬิกา Microbrand คือ บริษัทนาฬิกาที่ออกแบบรูปแบบ หน้าตา ในรูปแบบของตนเอง แต่ใช้กลไกสำเร็จพร้อมใช้ เช่น Miyota, Seiko, Sellita, เป็นต้น
Japanese Indepent Watch Maker; Naoya Hida. Source: monochrome-watches.com
นาฬิกา Micro Brand. Source: Horologisto.com

นาฬิกาเหล่านี้ เหมือนเปิดโลกใหม่ให้กับผม ทำให้ผมตื่นเต้น อยากที่จะเรียนรู้และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และที่สำคัญคือ ทำให้ผมสนุกกว่าแต่ก่อนเยอะเลย

แล้วจะหา “มุมที่คุณชอบ” หรือ “มุมที่ทำให้คุณหลงใหล” ในนาฬิกา ได้อย่างไร?

มันไม่มีสูตรสำเร็จที่ทุกคนจะสามารถเอาไปใช้ได้นะครับ เพราะการจะหาสิ่งที่คุณชอบ มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ และก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยเฉพาะตัวบุคคลด้วย เช่น อายุ การทำงาน ไลฟ์สไตล์ และพื้นฐานความเป็นมาของแต่ละคน จะเห็นได้ว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ก็จะมีส่วนทำให้ความชอบของแต่ละคน เปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วยอีกต่างหาก

ดังนั้นผมจึงขอยกตัวอย่างกรณีของผม เผื่อว่าทุกคนจะสามารถลองเอาไปประยุกต์ใช้กับตัวเองดูนะครับ ผมขอเขียนแยกเป็นหัวข้อตามนี้ครับ

  • อย่างที่ทุกคนพอจะทราบกัน ผมมีความชื่นชอบการแต่งตัวสไตล์ “Classic Menswear” ผมชอบใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว ผูกเนกไท ใส่แจ็กเก็ต ใส่สูท กับรองเท้าหนัง มากกว่าจะใส่ เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ
  • ผมชอบใส่นาฬิกาขนาดกลางๆ คือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 36-40มม (ซึ่งหลายๆ คนอาจจะมองค่อนไปทางขนาดเล็กด้วยซ้ำ) ผมมีความรู้สึกว่านาฬิกาที่มีขนาดตั้งแต่ 42มม เป็นต้นไปนั้นใหญ่เกินไปสำหรับข้อมือขนาดเส้นรอบวง 6.5 นิ้ว (หรือ 16.5 ซม) ของผม ที่บอกว่าใหญ่เกินไป คือ เวลามองจะรู้สึกว่ามันเต็มข้อมือจนไม่เหลือพื้นที่รอบๆ เรือนนาฬิกา และรู้สึกไม่สบายข้อมือ (บางครั้งถึงกับรู้สึกเจ็บข้อมือด้วย) เมื่อใส่ไปนานๆ ทั้งวัน
  • ผมจบการศึกษามาทางด้านสถาปัตยกรรม มีความชื่นชอบทางด้านงานออกแบบ และศิลปะ
  • ที่สำคัญสุดเลย คือ ผมชอบที่จะใส่นาฬิกาที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักทั่วไป (ไม่อยากใส่นาฬิกาไปซ้ำกับใครเยอะ)

จากเหตุผลที่ผมเล่ามาข้างต้น คงไม่ต้องแปลกใจที่ผมมี Rolex Submariner ตัววินเทจ และ Reverso Classic อยู่ในคอลเล็คชั่นของผม เท่านี้ก็น่าจะพอเดากันได้ว่า มุมที่ผมชอบก็คือ “นาฬิกาวินเทจ” แต่เนื่องจากผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ และความรู้เพียงพอที่จะสามารถแยกแยะนาฬิกาวินเทจว่าเรือนไหนของจริง ของปลอมได้ และผมก็ไม่อยากจะห่วงเรื่องการบำรุงรักษานาฬิกาวินเทจ ดังนั้น นาฬิกาที่ผมชอบก็คือที่เรียกกันว่าเป็น “Vintage (Re-issue) Watch” ซึ่งก็คือการที่แบรนด์นาฬิกาต่างๆ หยิบเอานาฬิการุ่นคลาสสิกที่มีประวัติมายาวนาน เรื่องราวที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมสูงในสมัยก่อน เอามันปัดฝุ่น แล้วใส่เทคโนโลยี กลไก ปัจจุบัน และวัสดุที่ทันสมัยเข้าไป เพื่อนำมาจำหน่ายในโอกาสพิเศษต่างๆ หรือในบางแบรนด์ เช่น Longines, Brietling, Grand Seiko ถ้าเพื่อนๆ เข้าไปดูในเว็บไซด์ ก็จะมีนาฬิกาประเภทนี้อยู่ใน “Heritage Collection”

พอจะเริ่มมองหา “มุมที่คุณชอบ” กันได้รึยังครับ?

เพื่อให้มองเห็นภาพมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ครับ

  • เพื่อนๆ อาจจะมองไปที่ “ประเภทของนาฬิกา” ต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัววินเทจ หรือจะเป็นรุ่นปัจจุบัน ก็ได้ เช่น

นาฬิกาดำน้ำ (Diver Watch)

Diver Watches. Source: www.HODINKEE.com

นาฬิกาจับเวลา (Chronograph Watch)

นาฬิกาจับเวลา source: www.HODINKEE.com

นาฬิกาสำหรับใช้ทางการทหาร (Military/ Field Watch)

Source: www.HODINKEE.com
  • หรือเราอาจจะเจาะลึกลงไปใน “ประเภทย่อย” ของนาฬิกาประเภทนั้นๆ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง นาฬิกาจับเวลา ล่ะกันนะครับ เพราะนาฬิกาจับเวลานั้น ยังมีการแยกออกเป็นประเภทย่อยๆ อีก เช่น

นาฬิกาจับเวลาสำหรับนักบิน (Pilot Chronograph) – คือนาฬิกาที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับกองทัพอากาศ

Pilot Chronograph Brequet Type XX. Source:www.HODINKEE.com

นาฬิกาจับเวลาสำหรับนักแข่งรถ (Racing/Driver Chronograph) – คือนาฬิกาจับเวลาในการแข่งในกีฬามอเตอร์สปอร์ต

Heuer Carrera Chronograph 160th Anniversary. Source: www.HODINKEE.com

นาฬิกาจับเวลาสำหรับ Dress Watch – คือนาฬิกาที่ใช้กลไกชั้นสูง (high horology) ซึ่งจะประกอบไปด้วยฟังก์ชั่น ปฏิทินถาวร (Perpetual Calendar) ข้างขึ้นข้างแรม (Moon Phase) การจับเวลา (Chronograph) หรืออาจจะมีฟังก์ชั่นมากกว่านี้

High Complication Patek Philippe. Source: www.HODINKEE.com
  • อีกมุมนึง คือการมองเจาะจงไปที่ช่วงเวลาที่มีผลกับการออกแบบนาฬิกา เช่น ในยุคปีทศวรรษที่ 60 และ 70 นั้น กระแสของศิลปะ และวัฒนธรรม มีผลทำให้งานออกแบบนาฬิกามีความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่น

นาฬิกา Patek Philippe ในช่วงยุคทศวรรษที่ 70

A Patek Beta 21. Source: www.HODINKEE.com

นาฬิกา Seiko Chronograph ในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70

Seiko 6138 vintage chronograph. Source: 60clicks.com

บทสรุป

ผมหวังว่าจากที่ผมเขียนมาทั้งหมดให้ทุกคนข้างต้น จะพอให้ไอเดียกับเพื่อนๆ ในการหา “มุมที่คุณชอบ” หรือ “มุมที่ทำให้คุณหลงใหล” ในการสะสมนาฬิกากันได้ไม่มากก็น้อยนะครับ สุดท้ายนี้ผมของฝากข้อคิดที่ผมก็จำไม่ได้ว่าผมไปฟัง หรือไปอ่านมาจากไหน แต่มันติดอยู่ในหัวผมมาตลอด ก็คือ “เราไม่สามารถครอบครองนาฬิกาทุกเรือนที่ผมชอบได้ แต่เราควรจะรักนาฬิกาทุกเรือนที่อยู่กับเรา”

หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะ ข้อติชม เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยตรงไหน สามารถเขียนมาในช่องคอมเม้นท์ด้านล่างได้เลยนะครับ ยินดีรับฟังความเห็นจากทุกๆ คน และฝากสนับสนุน ผลงานของผมโดยการกดติดตาม IG @my.six.point.five.inch.wrist และ @mickyjicky ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

แล้วเจอกันใหม่ ในโพสถัดไปครับ!!