ทำไมผมถึงหันมาชอบใส่นาฬิกาขนาด 36-40มม? และอยากให้เพื่อนๆ หันมาสนใจเหมือนกัน

ถ้าเพื่อนๆ คนไหนที่ติดตาม Instagram ของผม @mickyjicky และ @my.six.point.five.inch.wrist จะเห็นว่าผมเริ่มหันมาสนใจ และกำลังอินกับนาฬิกาที่มีขนาดเล็กเป็นอย่างมาก ดังนั้นในโพสนี้ผมจะขอพูดถึงเรื่องของ “ขนาดของนาฬิกา” กันครับ ว่าทำไมผมถึงหันมาหลงไหล คลั่งไคล้นาฬิกาเรือนเล็ก และทำไมผมอยากให้เพื่อนหันมาสนใจด้วยเหมือนกัน

ผมมีเหตุผล 4 ข้อหลักๆ ให้พิจารณากัน ตามนี้ครับ

ความสบายในการใส่

เมื่อเราพูดถึงความสบายในการสวมใส่ สิ่งที่เรานึกถึงเป็นอย่างแรกก็คือ ขนาดข้อมือของแต่ละคน สำหรับผม ข้อมือผมมีขนาดเส้นรอบรูป 6.5นิ้ว (หรือ 16.5ซม) ซึ่งแต่ก่อนผมก็ชอบใส่นาฬิกาเรือนใหญ่ๆ เหมือนกับที่ทุกๆ คนใส่กัน ตามกระแสในยุคที่นาฬิกา Panerai ดังไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ไม่ว่าจะผู้ชาย หรือผู้หญิงก็ใส่ Panerai ขนาด 44มม กันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ผมขอบอกเลยครับว่าผมใส่แล้วมันไม่มีความสบายเลย ไม่สบายถึงขนาดที่ผมจะต้องถอดนาฬิกาออก เพื่อพักข้อมือผมวันละหลายๆ ครั้ง (ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ คนไหน เป็นเหมือนผมกันบ้างรึป่าว?) แต่ผมก็ทนใส่ต่อไป เพราะว่าตอนนั้นยังอยากตามกระแสแฟชั่น กลัวตกเทรนด์

Rolex Explorer Ref.14270 ขนาด 36มม ความยาว lug-to-lug ที่ 43.6มม หนา 11.5มม

จนเมื่อผมได้มีโอกาสใส่นาฬิกาที่มีขนาดเล็กลงมาที่ขนาด 36-37มม ผมถึงได้เข้าใจว่านาฬิกาที่มันใส่สบายนั้นเป็นอย่างไร ด้วยสาเหตุว่า เมื่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางนาฬิกาเล็กลง ความหนาของตัวเรือนบางลง และน้ำหนักก็เบาลงไปด้วย ดังนั้นผมสามารถใส่นาฬิกาไซส์นี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอดออกมาพักอีกต่อไป แถมในบางครั้ง ผมลืมไปเลยด้วยซ้ำว่าผมใส่นาฬิกาอยู่ (มันสบายได้ขนาดนั้นครับ)

พอเพื่อนๆ อ่านมาถึงจุดนี้ เพื่อนๆ อาจจะคิดว่าถ้าเพื่อนๆ มีขนาดข้อมือที่ใหญ่กว่าข้อมือผม หรือเอาเป็นว่ามีข้อมือตั้งแต่ 7 นิ้วเป็นต้นไป ก็ควรจะใส่แต่นาฬิกาขนาดใหญ่ เพราะคงไม่มีปัญหาเรื่องความไม่สบายในการใส่ใช้งาน คำตอบคือ “ใช่” แต่ก็ “ไม่จำเป็นเสมอไป” ครับ

Rolex Submariner Ref.1680 ขนาด 40มม ความยาว lug-to-lug ที่ 47.7มม หนา 15มม

ที่ตอบว่า “ใช่” ก็เพราะว่า คนที่มีข้อมือใหญ่นั้นสามารถใส่นาฬิกาที่มีตัวเรือนขนาดใหญ่ได้ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนๆ นั้นไม่สามารถ หรือไม่ควรจะใส่นาฬิกาเรือนเล็กนะครับ เพราะในความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า “ทุกคนสามารถใส่นาฬิกาเรือนเล็กแล้วดูดีได้ แต่น้อยคนที่จะใส่นาฬิกาเรือนใหญ่แล้วดูดีนะครับ” หรือจะพูดอีกอย่างได้ว่า “นาฬิกาเรือนเล็กไปอยู่บนข้อมือใหญ่ๆ แล้วยังโอเคนะครับ แต่นาฬิกาเรือนใหญ่มาอยู่บนข้อมือเล็กๆ แล้ว ผมว่าไม่โอเคอย่างแรง”

ความดูดี มีสไตล์

Rolex Daytona Ref.6265 “Big Red” ขนาด 37มม ความยาว lug-to-lug ที่ 44.8มม หนา 13มม

เรื่องนี้เป็นเรื่องของความงาม และรสนิยมล้วนๆ เลยนะครับ เพราะผมกำลังจะพูดถึง สัดส่วนที่งดงามของสิ่งที่อยู่บนข้อมือของเราครับ ซึ่งในความคิดของผมนั้น สัดส่วนที่ลงตัวคือขนาดของนาฬิกาจะต้องไม่ใหญ่เกินไปจนไม่เหลือเนื้อที่ของข้อมือผู้ใส่ให้เห็นครับ หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า นาฬิกาควรจะมีขนาดที่เหมาะสมพอที่เราสามารถมองเห็นข้อมือของผู้ส่วมใส่รอบตัวเรือนนาฬิกาได้ด้วย

ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่เราเลือกเสื้อผ้าที่เราจะใส่ให้ดูดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราคุ้นเคยกับเสื้อผ้าสไตล์ Classic Menswear กันอยู่แล้ว เป็นที่ทราบดีว่าเราควรจะต้องเลือกขนาดของเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับขนาดร่างกายของเรา หลักการง่ายๆ คือไม่ควรหลวมโคร่ง (คือนาฬิกาไม่ควรจะเล็กจนเหลือพื้นที่รอบตัวเยอะเกินไป) และก็ไม่ควรคับแน่นจนเกินไป (คือนาฬิกาไม่ควรจะใหญ่แน่นเต็มข้อ จนไม่เหลือพื้นที่รอบตัว)

และการที่นาฬิกามีขนาดที่เหมาะสมและเหลือพื้นที่บนข้อมือ จะทำให้สายของนาฬิกาไม่ว่าจะเป็นสายหนัง หรือสายสแตนเลสมาเกาะอยู่บนข้อมือ (ยิ่งถ้าเป็นสายนาฬิกาที่มีการ “Taper” หรือการเรียวลง จะยิ่งสวย) เวลามองจากมุมบนลงไป เราจะเห็นมุมมองของนาฬิกาที่สวยที่สุดที่มันควรจะเป็น มากกว่าการที่นาฬิกามีขนาดใหญ่เต็มข้อมือ จนไม่เหลือที่ให้สายมาเกาะทำให้สายนาฬิกาหักลงไปทื่อๆ เวลามองจากด้านบนเราจะมองเห็นแต่หน้าปัดนาฬิกาอย่างเดียว

ตามที่ผมได้เกริ่นไว้ตอนต้น (และนี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ) เมื่อผมเห็นคนที่ตัวใหญ่ หรือข้อมือใหญ่แต่ใส่นาฬิกาเรือนเล็ก ผมมีความชื่นชมในตัวบุคคลนั้นนะครับ ผมรู้สึกว่าคนๆ นั้นมีสไตล์เป็นของตัวเอง และรสนิยมที่น่าสนใจ

มีใครสังเกตมั๊ยครับว่า นาฬิกาด้านซ้ายมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าเรือนด้านขวา (Source: timeandtidewatches.com)

และเมื่อเราพูดถึงเรื่องขนาดของนาฬิกา โดยทั่วไป เพื่อนๆ มักจะคุ้นกับระยะ เส้นผ่าศูนย์กลาง (diameter) ความหนา (thickness) และขนาดหูสาย (lug width) แต่เพื่อนๆ จะไม่คุ้นกับระยะ “Lug-to-Lug” ซึ่งมันคือความยาวรวมของนาฬิกา วัดจากขอบด้านหนึ่ง จนถึงขอบอีกด้านหนึ่ง (วัดในแนว ทิศเหนือ-ใต้) ซึ่งจริงๆ แล้ว ระยะ Lug-to-Lug เป็นระยะความยาวที่บ่งบอกขนาดจริงๆ ของนาฬิกาเรือนนั้นๆ ไม่ใช่ระยะเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวเรือน (เหมือนที่คนส่วนใหญ่ใช้อ้างอิงกัน) เพราะว่ามันมีนาฬิกาบางแบรนด์ และบางประเภทที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตัวเรือนเล็กก็จริง แต่มีขา (lug) ที่ยาวมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้เวลาใส่จริงจะคลอบคลุมพื้นที่ข้อมือ ไม่ต่างจากนาฬิกาตัวเรือนใหญ่ เช่น แบรนด์ Nomos และนาฬิกาแนวทหาร พวก Field Watch หรือ Pilot Watch

ราคา

โดยปกติแล้ว นาฬิกาเรือนเล็กราคาจะถูกกว่านาฬิกาที่มีขนาดตัวเรือนใหญ่กว่านะครับ (ถ้าเทียบระหว่าง รุ่น และแบรนด์เดียวกัน) นี่เราพูดถึงทั้งราคาในช้อป หรือบนหน้าเว็บไซต์ (ลองเข้าไปดูในเว็บของ Rolex, IWC, Omega ก็ได้ครับ) และยังรวมไปถึงราคาในตลาดมือสองด้วย โดยเฉพาะพวกนาฬิกาที่ตัวเรือนที่ทำมาจากทอง และที่ประดับอัญมณีทั้งหลายนะครับ นาฬิกาเรือนเล็กลง ก็ใช้วัสดุน้อยลง ราคาก็เลยถูกกว่าครับ

ผมว่าเหตุผลนี้ไม่ต้องอธิบายกันเยอะ และนี่ก็น่าจะถูกใจใครหลายๆ คน ที่พอจะเอาไว้ใช้เป็นข้ออ้างในการซื้อนาฬิกากันได้นะครับ ^_^

ความคลาสสิค อยู่เหนือกาลเวลา

เป็นที่รู้กันดีนะครับว่า นาฬิกาวินเทจส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 33-36มม (ซึ่งสำหรับผมนี่คือขนาดที่ลงตัวที่สุด) ส่วนนาฬิกาที่มีขนาด 37-38มม จะถือว่าเป็นนาฬิกาที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบัน นาฬิกาที่มีขายกันในท้องตลาดจะมีขนาดที่ 40-42มม ถือเป็นไซส์มาตราฐานของคุณผู้ชาย โดยที่บางแบรนด์ก็จัดเอานาฬิกาขนาด 36มม ไปอยู่ในกลุ่มนาฬิกาสำหรับคุณผู้หญิง(ซะงั้น)

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ เมื่อจะซื้อนาฬิกาใหม่ซักเรือน ก็จะมองหานาฬิกาที่มีขนาด 40-42มม ซะเป็นส่วนใหญ่ จริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจนะครับ เพราะแทบทุกแบรนด์นั้นก็ขยันออกนาฬิการุ่นใหม่ๆ มาในไซส์นี้ แต่สำหรับผม ผมมองหานาฬิกาที่มีขนาด 36-37มม เป็นลำดับต้นๆ ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ผมมีความชื่นชอบนาฬิกาสไตล์วินเทจ และการแต่งตัวสไตล์ classic เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เหตุผลหลักของผมเลย คือ ผมเชื่อว่า นาฬิกาขนาด 36-37มม นั้นเป็นขนาดที่ลงตัว เป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลาที่สุดครับ ซึ่งไม่น่าแปลกใจครับที่ทาง Rolex ถึงยังคงนาฬิกาขนาด 36มม ไว้ใน Collection Date Just และ Oyster Perpetual และจากที่เคยเพิ่มขนาดของ Explorer เป็น 39มม ก็กลับมาลดขนาดคงเดิมที่ 36มม และล่าสุดก็เพิ่งจะเพิ่มขนาด 36มม ไปใน Collection Day Date

Patek Philippe Perpetual Calendar Ref.3940G ขนาด 36มม ความยาว lug-to-lug ที่ 43.3มม หนา 8.8มม (Source: bazamu.com)

ขอสารภาพอีกอย่างครับว่า การที่ผมชอบนาฬิกาขนาดเล็กแบบนี้ มันทำให้ผมรู้สึกท้าทายที่จะต้องใช้ความพยายาม และเวลาในการตามหานาฬิกาที่ถูกใจเรามากกว่านาฬิกาที่เห็นอยู่ทั่วๆ ไป

บทสรุป

ก็หวังว่าเหตุผลที่ผมได้อธิบายให้เพื่อนๆ ทุกคนได้อ่านกันจบไปแล้วนั้น จะพอดึงความสนใจให้ทุกคนหันมามอง และคิดที่จะเลือกใส่นาฬิกาเรือนเล็กลงกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ อย่างไรก็ดี มันยังมีปัจจัย ปลีกย่อยที่ผมไม่ได้กล่าวถึงอย่าง รูปร่างของตัวเรือน เช่น ตัวเรือนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวเรือนแบบถังเบียร์ (Tonneau) ฯลฯ ความหนาของตัวเรือน สีของหน้าปัด สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของเราเวลามองว่า นาฬิกาเรือนดังกล่าวมีขนาดใหญ่ หรือเล็กบนข้อมือเรา นะครับ (ผมอาจจะเขียนแยกเป็นอีกโพสต่างหากในอนาคตนะครับ)

และที่ผมเขียนอธิบายมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าผมจะบังคับให้ตัวเองสนใจแต่นาฬิกาขนาด 36-37มม อย่างเดียวนะครับ สำหรับตัวผมแล้ว จากประสบการณ์ที่เคยใส่ใช้งานจริง และได้ลองใส่นาฬิกาที่ผ่านๆ มา ผมสามารถใส่นาฬิกาขนาดใหญ่ที่สุดได้ที่ขนาด 40มม โดยผมคิดว่า นาฬิกาขนาด 38-40มม นั้นเหมาะที่จะเป็นนาฬิกาที่ผมจะใส่สำหรับโอกาสวันหยุด ไปเที่ยว หรือในวันที่ผมทำกิจกรรม outdoor ต่างๆ

และสุดท้ายนี้ ผมว่าตอนนี้เราเริ่มที่จะเห็นกระแสที่นาฬิกาเรือนเล็กจะกลับมาอยู่ในความนิยมอีกครั้ง ซึ่งผมก็หวังว่านาฬิกาแบรนด์ต่างๆ จะเริ่มทยอยออกนาฬิการุ่นยอดนิยม หรือรุ่นใหม่ๆ มาในขนาดที่เล็กลง และในอนาคตอันใกล้ ก็ควรที่จะยกเลิกการแบ่งหมวดหมู่นาฬิกาในแคตตาล็อค ว่าเป็น คุณผู้ชาย คุณผู้หญิง กันอีกต่อไปได้แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เราได้เห็นการออกแบบนาฬิกาในรูปแบบใหม่ๆ (ที่ไม่แบ่งเพศ) ในอนาคต

หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะว่าอยากจะให้ผมเขียนเกี่ยวกับหัวข้ออะไร มีข้อติชม เห็นด้วย หรือเห็นต่างตรงไหน สามารถเขียนมาในช่องคอมเม้นท์ด้านล่างได้เลยนะครับ ผมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกๆ คน และหากมีข้อมูลอะไรผิดพลาด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ และฝากสนับสนุนผลงานของผมโดยการกดติดตาม IG: @mickyjicky และ @my.six.point.five.inch.wrist กันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

แล้วเจอกันใหม่ ในโพสถัดไปครับ!!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *